คอลัมน์: มติชนมติครู: คนไทยได้รับการศึกษาตลอดชีวิต ตามแนวทาง 'ปฎิรูปการศึกษา'
Source - มติชน (Th)

Thursday, May 10, 2018  06:32
34669 XTHAI XEDU XREL DAS V%PAPERL P%MTCD

          ดร.พีระพงษ์ สิทธิอมร
          วิทยาลัยนครราชสีมา
          teachervoice@matichon.co.th
          การใช้การศึกษาในการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การใช้หลักการแก้ปัญหาสังคมโดยใช้การศึกษา แก้ปัญหาที่เป็นรากฐานของประเทศ ได้แก่ โง่ จน เจ็บบ่อยๆ และความเฉื่อยชา นับว่าเป็นปัญหาพื้นฐานในชุมชนที่มีความสำคัญในการพัฒนาเพื่อหาทางหลุดพ้นตามเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพ กระบวนการพัฒนา นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทุกกลุ่มทุกเหล่าให้มีคุณภาพชีวิต ในการอยู่ในประเทศ และสังคมใกล้เคียงกัน ทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างเสมอภาค ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
          โดยประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลที่ 9 มีการวางงานปฏิรูปการศึกษา โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และได้แก้ไขปรับปรุง พ.ศ.2545 โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เป็นกระบวนการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งจะได้กล่าวในแผนการศึกษาชาติพุทธศักราช 2560-2579 ที่เป็นแผนให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาตลอดชีวิต
          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ). จัดการประชุมแถลงข่าวเปิดตัวแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้แทน 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนผู้แทนการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักวิชาการ เครือข่ายประชารัฐด้านการศึกษา และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 1,000 คนร่วมงาน
          แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 มีเป้าหมายสำคัญคือ "คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21" สำหรับกรอบการเตรียม คนไทยของแผนการศึกษาชาติ ระยะ 20 ปี รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนรองรับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยสร้างนวัตกรรมใหม่
          แนวทางขับเคลื่อนตามแผนการศึกษาชาติระยะ 20 ปี รัฐบาลเน้นความสำคัญในยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการผลิต และพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่มีแผนงาน และโครงการที่สำคัญของยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้ การพัฒนาแต่ละยุทธศาสตร์แปลงสู่การปฏิบัติ และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนการศึกษาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปี รองรับการพัฒนากำลังคนสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0 
          การศึกษาตลอดชีวิตเป็นหลักการจัดให้แก่ทุกคนให้ได้มีทักษะชีวิต ทักษะการอาชีพ และคุณภาพชีวิต เพื่อสังคมอุตสาหกรรม ภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอดี การจัดการศึกษาตลอดชีวิตเกิดจากการขยายตัวของเมือง การขยายตัวของอุตสาหกรรม นโยบายของรัฐ และปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ให้ทุกคนได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทุกเวลา ทุกโอกาส การขยายตัวของการศึกษาทุกรูปแบบ โดยวิธีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ขยายการศึกษาหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรมให้มีส่วนร่วม มีความสัมพันธ์ของชุมชน มีระบบนิเวศวิทยาสอดคล้องเหมาะสมของระดับการพัฒนาคน เน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างสังคมอุตสาหกรรม และสังคมเกษตรบริหารที่สังคมกลายเป็นสังคมเมือง
          ควรพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตด้วยวิธีการชุมชนพัฒนาอย่างครอบคลุม เร่งและกระตุ้นการพัฒนาการศึกษา เปลี่ยนชุมชนกำลังพัฒนาให้มีเป้าหมายพัฒนาแล้ว กระตุ้นเรื่องรายได้ให้เพียงพอและสมดุล มีเป้าหมายการศึกษาทุกกลุ่มเป็นชุมชน ตั้งแต่ให้คนพัฒนารายได้ในชุมชน กระตุ้นการเรียนรู้ โดยค่าใช้จ่ายที่พึงมีพึงได้ตามกำลังทรัพย์ มีสถานศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยอย่างทั่วถึงทุกหมู่เหล่า ตามหลักปรัชญาการศึกษาเพื่อปวงชน Education for All เพื่อนำเอาหลักปรัชญามาพัฒนาการเมือง การพัฒนาชนบท การพัฒนาการเกษตร การพัฒนาเศรษฐกิจ นำเอาหลักการเหล่านี้มาพัฒนาแนวคิด ปรัชญาให้เกิดทักษะชีวิต และปรัชญาทางมโนธรรมสำนึกกับการดำรงชีวิตให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ความสงสัยจากปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต 
          ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2579 การจัดการศึกษาตลอดชีวิตควรเป็นอย่างไร จัดในระบบ นอกระบบ และอัธยาศัย ข้อคำถามรัฐบาล มีการขับเคลื่อนอย่างไร งบประมาณ ความพร้อม มีคนเพียงพอเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หรืออาศัยตั้งแต่ระบบราชการ การเป็นนักการศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในภาพรวม 
          วันนี้มีมโนธรรมสำนึกพร้อมหรือยัง ความพร้อมในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต คนทั่วไปเข้าใจหรือยัง หน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการจะทำเป็นตัวอย่างเน้นแต่เป้าหมาย คนจัดเชิงคุณภาพด้วย ขณะเดียวกันมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ ใช้การคิดเป็นส่วนใหญ่เป็นหลักการ แต่ทางปฏิบัติดำเนินการไม่ได้ การจัดการศึกษาตลอดชีวิตก็จะทำได้แค่กิจกรรมเท่านั้น ในที่สุดการปฏิรูปรอบ 3 รอบ 4 ก็จะล้มไม่เป็นท่า คิดแล้วทำให้เกิดการปฏิบัติได้จะเป็นมรรคผลต่อไป
          การศึกษาตลอดชีวิตสำหรับแนวทางการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 โดยอาศัยยุทธศาสตร์ชาติใช้การพัฒนาประเทศปี 2560-2579 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้านจากความคาดหวังในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยมีพื้นฐานการพัฒนาคนในสังคม ด้านความรู้ ด้านทักษะอาชีพ โดยอาศัยการจัดการศึกษาที่ปฏิรูปด้านวิทยาการไปสู่การปฏิบัติ การสำนึกอย่างสมบูรณ์ทางจิตใจตามความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการนำเสนอข้อมูลสาธารณะ มีหลักการคิดอย่างประชาธิปไตย มีกระบวนการวิจัยเพื่อการพัฒนา ด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสม มีกระบวนการเปลี่ยนแปลง 
          ที่เกิดปรากฏการณ์ที่เกิดจากการจัดการศึกษาของไทย ตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน