เครือข่ายผู้บริโภคบุก “พาณิชย์” ขอให้ควบคุม “บริการสาธารณสุข” หลังรพ. เก็บค่ารักษา ค่ายา สุดโหด
Source - MGR Online (Th)
Friday, May 11, 2018  13:40

          กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ASTVผู้จัดการออนไลน์

          เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค บุกยื่นหนังสือ “พาณิชย์” ขอให้ใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้ “บริการสาธารณสุข” เป็นบริการควบคุม หลังพบโรงพยาบาลหลายแห่งคิดราคาสุดโหด มีทั้งโก่งค่ารักษาพยาบาล คิดค่ายาแพงกว่าหน้ากล่องถึง 400 เท่า เก็บค่ารักษาฉุกเฉิน ย้ำหากไม่ดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2561 กลุ่มเครือข่ายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นำโดยน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์ผู้บริโภค น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุบริการด้านสุขภาพ ของคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน พร้อมตัวแทนภาคประชาชนประมาณ 30 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับแทน
          โดยกลุ่มเครือข่ายฯ ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศให้บริการสาธารณสุขเป็นบริการควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โดยให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาล ดำเนินการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ส่งให้กรมการค้าภายใน เพื่อกำหนดราคาควบคุม โดยในระยะสั้น ขอให้ประกาศราคาสูงสุดหรือราคากลาง ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ โดยให้นำราคากลางตามที่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์แห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาใช้ก่อนจนกว่าจะมีการประกาศควบคุม
          นอกจากนี้ ขอให้พัฒนาเรื่องระบบร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ ที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และให้ทบทวนการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล เช่น ยารักษาโรค ซึ่งกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการราคากลางว่าด้วยสินค้าและบริการฉบับที่ 1 พ.ศ.2521 เรื่องกำหนดสินค้าและบริการควบคุม หมวดยารักษาโรค เช่นเดียวกับการควบคุมราคาผ้าอนามัย
          น.ส.สุภัทรากล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนร้องเรียนมายังมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคหลายราย ถือเป็นอันดับ 2 ของร้องเรียนรองจากการโฆษณาอาหารและยา ซึ่งบางราย พบว่า มีการเรียกค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้หลายแสนบาท และเป็นการกำหนดราคาตามใจชอบ และยังพบว่า ราคาบางตัว ขายเกินจากราคาหน้ากล่องยาถึง 400 เท่า โดยไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบ ขณะที่การเข้าโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉินที่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริง มีการเก็บค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน
          “เครือข่ายเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่ควรได้รับการบริการด้านการแพทย์ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ต้องออกประกาศให้ ”บริการสาธารณสุข” เป็นบริการที่ควบคุมเหมือนกับสินค้าอื่นๆ หากภายใน 15 วัน ยังไม่มีการดำเนินการใด ทางเครือข่ายจะยื่นหนังสือต่อศาลปกครองต่อไป”น.ส.สุภัทรากล่าว
          ด้านนายวิชัยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการหารือปัญหาเรื่องนี้กับกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง แต่การควบคุมราคาค่าบริการด้านพยาบาล เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ แต่หากมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาตามอำนาจหน้าที่และตามที่กฎหมายกำหนด--จบ--