คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ควิกวิน'การศึกษา'
Source - มติชน (Th)

Wednesday, May 30, 2018  03:08
12430 XTHAI XEDU XREL DAS V%PAPERL P%MTCD

          กมล รอดคล้าย
          ช่วงนี้กระแสการปฏิรูปประเทศได้รับการกล่าวถึงอยู่มิใช่น้อย เพราะเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลในการเข้ามาบริหารจัดการและวางระบบประเทศ นับเนื่องจากการจัดตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พัฒนามาเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กระทั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆ 11 คณะ
          ซึ่งแน่นอนว่าการปฏิรูปส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ปัญหาเดิมและวางระบบหรือกรอบทิศทางในการพัฒนา รวมไปถึงหลายเรื่องต้องปรับปรุงแก้กฎหมาย ออกระเบียบแนวปฏิบัติใหม่ ส่งผลให้ทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นใจร้อนทั้งหลายออกอาการไม่ค่อยพออกพอใจ
          ความจริงปัญหาเหล่านี้พอจัดการได้ นั่นคือหยิบยกบางเรื่องขึ้นมาทำก่อน เป็นคู่ขนานไปกับการปฏิรูป ที่วางแนวทางไว้เรียกว่าจัด Priority เสียให้ถูก รวมทั้งทุ่มเทดำเนินการอย่างมุ่งมั่นจริงจัง หรือ Focus เป็นจุดๆ เป็นเรื่องๆ อย่าทำแบบกระจัดกระจาย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็จะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็จะเป็นความหวังให้กับสังคมได้ว่าเราพอจะเห็นปลายทางอันสดใส หรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในวันข้างหน้า
          เราเรียกสิ่งนี้ว่า Quick Win หรือชัยชนะอย่างรวดเร็ว คือ คิดเร็วทำเร็ว เห็นผลเร็ว เป็นชัยชนะหรือความสำเร็จที่สามารถเห็นผลในเวลาอันสั้น
          ในมิติของการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาก็เช่นเดียวกัน เรามีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ที่กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ไว้รอบด้าน เป็นขั้นเป็นตอนและขณะนี้ทุกภาคส่วนก็มีการดำเนินการขับเคลื่อนไปตามทิศทางของแผนดังกล่าว
          เรามีกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (จ) ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กำลังดำเนินการอยู่อย่างขะมักเขม้นใน 4-5 ประเด็นหลัก ทั้งการพัฒนาเด็กปฐมวัย กองทุนการศึกษา การพัฒนาครู การพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการแต่ทุกเรื่องก็จำเป็นต้องใช้เวลา

          วันนี้การกำหนดให้มี Quick Win ทางการศึกษาจึงอาจจะจำเป็นเพื่อเห็นผลอย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่จะรองรับการพัฒนาประเทศภายใต้เป้าหมายการปรับฐานเศรษฐกิจเป็นประเทศไทย 4.0 ในอนาคต
          Quick Win ทางการศึกษาได้ถูกกำหนดไว้แล้วโดยใช้ประเภทของกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ด้วยความเชื่อว่าหากในระยะ 3-5 ปีนี้ รัฐได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มต่อไปนี้อย่างจริงจังจะสามารถสร้างกำลังคนหรือ Man Power ที่มีความพร้อมออกไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้แก่
          1.กลุ่มอัจฉริยะ หรือมีความสามารถพิเศษ ที่เรียกว่า Gifted/Talented โดยรัฐต้องมีกระบวนการพัฒนาเด็กหรือคนเก่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบและใช้ประโยชน์จากกลุ่มเหล่านี้ เช่น นักเรียนกลุ่ม Olympiads มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ (สอวน.) โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ฯลฯ โรงเรียนที่รับเด็กเก่งเฉพาะด้าน เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ กำเนิดวิทย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้คุ้มกับการลงทุนและใช้ทรัพยากรทางการศึกษา โดยส่งเสริมให้ศึกษาในสาขาที่ประเทศขาดแคลนและต้องการ จากนั้นจัดหางานรองรับอย่างเหมาะสม
          ในขณะเดียวกันจะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพ รัฐบาลมีการมอบหมายโครงการใหญ่ๆ ให้คนกลุ่มนี้ได้ทดลอง คิด ประดิษฐ์ ทำ เหมือนที่ในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีดำเนินการ โยนปัญหาสำคัญให้ช่วยกันคิดหรือแก้ไข เช่น ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบขนส่ง จราจร การผลิตยานยนต์ การแก้ปัญหาโรคร้ายบางชนิด การคิดประดิษฐ์เครื่องมือการเกษตร ที่สามารถผลิตเป็น Mass Product เป็นต้น เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องลงทุนและได้รับสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ
          2.กลุ่มอาชีวศึกษา เน้นการผลิตกำลังคนใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถทำงานได้จริงและทันที มีการสานพลังประชารัฐยกระดับวิชาชีพ ขยายการศึกษาแบบทวิภาคี ทวิวุฒิ และพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีทักษะในสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยร่วมผลิต ฝึก และปฏิบัติไปกับภาคเอกชน หรือบริษัท จากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย เช่น การขยายงานด้านธุรกิจการบิน บริหารจัดการขนส่งระบบรางและรถไฟความเร็วสูง การบริหารท่าเรือ โรงแรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
          3.กลุ่มอุดมศึกษา ควรมีการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อรวมพลังสร้างความเป็นเลิศ เร่งผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย เป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนา (R & D) และนำผลไปใช้จริงในการพัฒนาหรือสร้างผลผลิต รวมถึงทำหน้าที่สร้างผู้นำและผู้ประกอบการ ที่สามารถแข่งขันได้ สร้างการมีส่วนร่วมกับโรงเรียน ชุมชน หนังสือพิมพ์มติชนรายวันและภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และจัดการศึกษา ที่เรียกว่าสหกิจศึกษา คือ เรียนและทำงานไปพร้อมๆ กัน
          4.กลุ่มกำลังแรงงาน รวมถึงบัณฑิตที่ว่างงานและแรงงานไร้ฝีมือ ที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับสมรรถนะกำลังแรงงานรองรับ 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เสริมสมรรถนะทางภาษา การใช้เครื่องมือ การทำงานในระบบมาตรฐานสากล เพิ่มค่าตอบแทนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่สามารถเทียบเคียงได้กับอาเซียนและสากลโดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุน
          5.กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งแม้จะเกษียณออกไปจากระบบแต่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และเครือข่าย ที่สำคัญมีเงินทุนในการสร้างงานใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความรู้และประสบการณ์เพื่อสร้างเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในลักษณะของคลังสมอง (Think Tank) และส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) โดยสถาบันอุดมศึกษาอาจร่วมสนับสนุนในการเปิดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนากลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ให้ก้าวทันเทคโนโลยีหรือวิทยาการใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างผลผลิตและรายได้มาสู่ประเทศ ในอนาคต
          การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา อาจต้องใช้เวลานาน และมีระบบการพัฒนาเป็นช่วงๆ เป็นขั้นเป็นตอน เวลา 20 ปี ย่อมคุ้มค่าสำหรับการรอคอยคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ แต่การทำงานในลักษณะคู่ขนาน เรียนลัดในอัตราเร่งที่สูงก็เป็นการย่นระยะเวลา ที่ต้องใช้ถึง 20 ปี ให้สั้นลงได้ 
          การกำหนดกลุ่มเป้าหมายและวิธีการของ Quick Win ทางการศึกษาจึงน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ก้าวไปสู่ความสำเร็จที่เราทุกคนมุ่งหวัง--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน