สคบ.เข้มจัดกิจกรรมบอลโลกห่วงเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Monday, May 28, 2018  03:23
54493 XTHAI XECON DAS V%PAPERL P%PTD

          โพสต์ทูเดย์ - สคบ.ตรวจสอบธุรกิจจัดแคมเปญช่วงบอลโลก พบ 150 ราย ใช้ข้อความไม่ถูกต้อง จี้แก้ไขก่อนโดนโทษปรับทั้งเจ้าของและช่องทางโฆษณา
          นายศรัณย์ รักษ์เผ่า ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า  สคบ.กำลังจับตาโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่มีการลดแลกแจกแถม รวมทั้งการชิงโชคชิงรางวัลในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งในช่วงนี้ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายมีการจัดแคมเปญให้ผู้บริโภคร่วมสนุกชิงรางวัล แต่ส่วนใหญ่มักจัดทำโฆษณาไม่ถูกต้องตามกฎหมายของ สคบ. โดยเฉพาะการกำหนดรายละเอียดของการชิงรางวัล
          "ช่วงการแข่งขังฟุตบอลโลกในปีนี้ รัสเซียเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.เป็นตันไป พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจไทยหลายรายทำการโฆษณาให้ผู้บริโภคร่วมชิงรางวัลเป็นจำนวนมาก สคบ. จึงกำลังตรวจสอบดูว่ามีรายใดบ้างที่ทำผิด ส่วนใหญ่มักแจ้งข้อความบางรายการไม่ถูกต้อง โดย สคบ.ได้มีการออกคำสั่งแจ้งไปยังผู้ทำผิดรวมแล้ว 150 บริษัท" นายศรันย์ กล่าว
          ทั้งนี้ จากการตรวจสอบลักษณะข้อความโฆษณาที่พบเป็นความผิด คือ กรณีการโฆษณาขายสินค้าหรือบริการจัดให้มีของแถมให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดของวัน เดือน ปี เวลา หรือสถานที่กำหนดจับรางวัล รองลงมาคือ ไม่ระบุระยะเวลาการเริ่มต้นจนสิ้นสุดของการจัดแคมเปญแจกโชค ไม่มีการระบุถึงประเภทของรางวัล จำนวนและมูลค่า เมื่อพบการกระทำผิด สคบ.จะแจ้งเตือนให้แก้ไขก่อน หากไม่เร่งแก้จะถือว่ามีความผิดคือ มีโทษปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท แยกเป็นการปรับเจ้าของสินค้า 3 หมื่นบาท และผู้เผยแพร่โฆษณาอีก 3 หมื่นบาท
          พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า สคบ.อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณา 2 ฉบับ คือ ร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เรื่องการโฆษณาขายสินค้า หรือบริการที่มีการระบุ หรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค ประกวดให้รางวัล การให้ของแถม หรือสิทธิประโยชน์โดยให้เปล่า และร่างกฎกระทรวงฉบับที่ 7 เรื่องการโฆษณาขายห้องชุดในอาคารชุด และการโฆษณาขายที่ดิน โดยการแบ่งขายเป็นแปลงย่อยไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาขายที่ดิน หรือขายที่ดินพร้อมทั้งอาคาร มีหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 800 คน
          อย่างไรก็ตาม การทบทวนกฎหมายทั้งสองฉบับ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ได้พยายามที่จะพัฒนาและนำเสนอขายสินค้า โดยการจัดทำโฆษณาในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการดึงดูดใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการ เช่น การให้ส่วนลดบ้านหรือราคาห้องชุด การแจกโทรศัพท์มือถือ หรือให้เฟอร์นิเจอร์ครบชุดเป็นของแถม รวมทั้งยังมีการนำสื่อออนไลน์มาใช้สื่อสารการตลาด แต่กฎกระทรวงฉบับเดิมใช้มานานกว่า 20 ปี ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์