พิษ...ขยะอิเล็กทรอนิกส์ซุกไทย เร่งกำจัด 2 แสนตัน พิรุธจนท.เอี่ยวค้าขยะข้ามชาติ
Source - เดลินิวส์ (Th)

Thursday, May 31, 2018  04:53
62842 XTHAI XOTHER XCLUSIVE XGEN MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          จีระวัฒน์  สุขานนท์  รายงาน
          ค วามก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกวันนี้ ส่งผลทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ "ตกรุ่น" เร็วขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยประเทศไทยพบมีการนำเข้าสินค้าอิเล็ก ทรอนิกส์ตามอนุสัญญาบาเซล ปี 57-59 มากกว่า 200,000 ตัน ซึ่งสังเกตได้ว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนน่าตกใจ
          ขยะอิเล็กทรอนิกส์  คือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล  วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ฯลฯ ที่มีสารโลหะหนักและเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยตรง ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ต้องกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องและมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน
          จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวกองขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดมหึมาในโรงงานคัดแยกขยะที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนหน้านี้มีที่มาจากที่ชาวบ้าน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา รวมตัวกันร้องเรียนไปที่ศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย กระทรวงกลาโหม เนื่องจากเคยร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าวไปหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นผล ข้อร้องเรียนระบุว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานขนาดใหญ่ลักลอบเผาทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์  ทำให้ได้รับความเดือดร้อนด้านมลพิษทางอากาศ  ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนังมานานนับปี
          ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย  จึงมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข นำโดย พล.ต.อ.วิระชัย  ทรงเมตตา  รอง ผบ.ตร.  พร้อมด้วย นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม, นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา, พล.ต.วรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 11, ตำรวจ บก.ปทส., ตำรวจภูธรภาค 2, เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ และ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร สนธิกำลังร่วมกันเปิดปฏิบัติการกวาดล้างขยะพิษ ด้วยการบุกเข้าตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลขยะ อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด  เลขที่ 33 หมู่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา, บริษัท นิสส์สกาย เมทัล จำกัด  เลขที่ 111/6 หมู่ 9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, บริษัท ซันเหลียนไทย จำกัด หมู่ 5 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ บริษัท หย่งถัง ไทย จำกัด เลขที่ 88/9 หมู่ 11 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
          จากการตรวจสอบทั้ง 4 แห่ง พบว่ามีนายทุนใหญ่เป็นชาวจีน  โรงงานทั้งหมดลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากจีน นำมาเผาหลอมแผงวงจร เอาของมีค่า สร้างผลกระทบอย่างสูงต่อสิ่งแวดล้อม มีทั้งสารตะกั่วโลหะหนัก สารปรอท เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบเลือด และยังมีสารก่อมะเร็ง เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบที่มาของเศษกากวัสดุขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ พบว่าประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้า เพราะถือว่าเป็นขยะอันตรายอย่างยิ่ง
          ขณะที่ พล.ต.อ.วิระชัย  ระบุ โรงงานดับบลิว เอ็ม ดี ไทยฯ มีหลายขั้นตอนที่ไม่ถูกต้อง และมี การลักลอบนำเข้ากากขยะอุตสาหกรรมที่ประเทศทั่วโลกหาวิธีการทำลาย แต่กลับนำเข้ามาในไทย ในการกำจัดขยะนั้นเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างสูงต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศ เพราะในขยะอิเล็กทรอนิกส์มีสารตะกั่วโลหะหนัก สารปรอท เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ทำลายระบบเลือด แล้วยังมีสารก่อมะเร็งด้วย ขยะดังกล่าวเป็น 1 ใน 24 ขยะอันตราย  เป็นของต้องห้ามเด็ดขาด ตนสั่งให้ตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตและขยายผลว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของโรงงาน เบื้องต้นจากข้อมูลพบว่าเจ้าของโรงงานเป็นนายทุนชาวจีน แต่ขณะตรวจค้นไม่อยู่ในโรงงาน
          ด้านนายสุรพล  เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบโรงงานมีการขออนุญาตดำเนินกิจการคัดแยกและบดทำลายขยะ ตอนเกิดไฟไหม้ ทำให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงตั้งข้อสังเกตถึงมลพิษที่เกิดขึ้น จึงแจ้งหน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าขยะเหล่านี้อันตรายไม่สามารถคัดแยกได้ หลังจากนี้จะให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งปิดโรงงานชั่วคราว เนื่องจากการตรวจสอบลักษณะของโรงงานพบว่ามีการจัดการที่ผิดสุขลักษณะ ไม่สามารถเก็บมลพิษได้ และที่ผ่านมาจีนก็ไม่อนุญาตให้มีการคัดแยกขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศตัวเองด้วย
          "สำหรับวิธีการทำลายซากวัสดุอันตรายประเภทนี้ ต้องมีระบบการจัดการที่เป็นโรงงานปิด ต้องใช้การเผาด้วยความร้อนสูงและมีการจัดการที่ดี จึงจะสามารถคัดกรองสารมลพิษต่าง ๆ ได้ ซึ่งในไทยมีการจัดการบ่ออุตสาหกรรมที่ถูกต้องประมาณ 3 ถึง 4 บ่อเท่านั้น หลังจากนี้จะให้อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจสอบตั้งแต่การขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทำลายขยะอุตสาหกรรม รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดว่าผิดอะไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป"  นายสุรพล กล่าว ทั้งนี้ ยังมีการขยายผลต่อเนื่องไปยัง บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด เลขที่ 239 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม. ในย่านนิคมอุตสาหกรรม ลาดกระบัง ซึ่งตรวจพบหลักฐานทางบัญชีว่าได้ส่งกากอุตสาหกรรมไปให้กับโรงงานในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จากการตรวจพบว่ามีแบตเตอรี่หลายชนิด เช่น ซากแบตเตอรี่ ซากโทรศัพท์มือถือ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเป็นวัสดุอันตราย ห้ามนำเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
          จากการสอบสวน นายซิ้น อัน สวน ชาวไต้หวัน กรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าว ให้การว่า โรงงานแห่งนี้ นำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำเข้ามาได้ประมาณ 3 ปี และเพิ่งย้ายมาตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ได้ประมาณ 3 เดือน
          เป็นที่น่าตกใจว่าหลังจาก เปิดปฏิบัติการกวาดล้างขยะพิษ ได้เพียง 3 วัน สามารถจับกุมโรงงานลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถึง 5แห่ง จึงต้องตรวจสอบว่ามีการนำเข้าโดยวิธีใด และทำไมขั้นตอนการนำเข้าจึงสามารถปล่อยให้ขยะอุตสาหกรรมมากขนาดนี้เข้าภายในประเทศได้
          หลังลงพื้นที่ตรวจสอบหาพยานหลักฐานพล.ต.อ.วิระชัย เข้าหารือกับนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กรณีตำรวจตรวจพบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง หลังมีการแจ้งสำแดงรายการนำเข้าสินค้าอันเป็นเท็จ เบื้องต้นแนวทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เชื่อว่าน่าจะมีขบวนการลักลอบนำเข้าเศษซากขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายแสนตันเข้ามาในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็นช่วยเหลือในการลักลอบนำเข้า เนื่องจาก
          การพบเอกสารที่ตรวจยึดได้จากโรงงานที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ มีการแจ้งสำแดงนำเข้าสินค้าอันเป็นเท็จ และจงใจหลีกเลี่ยงภาษีอากรเข้ารัฐ
          สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทจะต้องมีใบรองรับสินค้าไม่เป็นวัตถุอันตราย และเป็นพิษจากกระทรวงอุตสาหกรรมมารับรอง ถึงจะสามารถรับสินค้าไปได้ แต่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างรัดกุม โดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรก็มีเครื่องเอกซเรย์ทันสมัย สามารถแยกประเภทสินค้านำเข้าได้ชัดเจน แต่ก็น่าแปลกใจที่ขยะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่เหล่านี้ยังถูกเล็ดลอดออกไปได้
          ทั้งนี้ยังมีข้อมูลอีกว่าโรงงานของผู้ประกอบการชาวจีนที่รับขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจากทั่วโลก เพื่อนำมากำจัดในไทยมากกว่า 200,000 ตัน เนื่องจากจีนมีคำสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเด็ดขาด และมีอัตราโทษที่สูง จึงต้องย้ายฐานการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังไทยแทน
          สำหรับโทษของขยะอิเล็กทรอ นิกส์ที่มีสารทำลายต่อสุขภาพ ได้แก่  1. ตะกั่ว ทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และการพัฒนาสมองของเด็ก ส่วนพิษเรื้อรังจะค่อย ๆ แสดงอาการภายหลังการได้รับสารตะกั่วทีละน้อยจนถึงระยะเวลาหนึ่ง จึงจะแสดงอาการ 2. ปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมองและไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด ทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ไม่สามารถรักษาให้ดีดังเดิมได้  3. คลอรีน อยู่ในพลาสติกพีวีซี ก่อสารมะเร็ง เมื่อพลาสติกถูกเผาจะส่งผลต่อระบบหายใจ ระคายจมูก และทำให้เคลือบฟันผุ  4. แคดเมียม มีพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ไตวาย ไตถูกทำลาย  และ 5. โบรมีน เป็นสารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และรูปทรงของเส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจ
          จากเหตุการณ์นี้คงถึงเวลาต้องย้อนกลับมาทบทวนระบบ ตั้งแต่มาตรการสกัดกั้น มาตรการตรวจสอบ และการเอาผิดให้ถึงที่สุดกับขบวนการนำเข้าขยะสารพิษอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อย่างจริงจัง.

          บรรยายใต้ภาพ 
          ตัวอย่างกองขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก
          ตำรวจหารือร่วมศุลกากรเจาะเส้นทางนำเข้าขยะพิษ
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2561 (กรอบบ่าย)--