สั่งปิดโรงงานทำลายแผ่นซีดี ลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ
Source - เว็บไซต์เดลินิวส์ (Th)

Thursday, June 07, 2018  22:00
32878 XTHAI XLOCAL XGEN RGN V%NETNEWS P%WDN

          หลายหน่วยงานเร่งสอบปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ล่าสุด มีการสั่งปิดโรงงานทำลายแผ่นซีดีจากจีน หลังพบแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำสายหลักในจ.ลำปาง
          จากกรณี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าสอบสวนเอาผิดผู้ลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องว่าได้ลักลอบนำขยะเหล่านี้ไปคัดแยก หลอม หรือฝังกลบทำลายโดยผิดกฎหมาย ส่งผลให้เกิดมลพิษในประเทศไทยเป็นอย่างมากนั้น
          ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายสนั่น โกสาวัง เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญการ อุตสาหกรรม จ.ลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งปิดโรงงานแปรรูปขยะรีไซเคิล ตงเฮง พลาสติกรีไซเคิล เลขที่ 407/2 หมู่ 3 บ้านแม่ฮาว ต.ห้างฉัตร ซึ่งเป็นโรงงานบดทำลายแผ่นซีดีที่นำเข้าจากประเทศจีน หลังได้รับการร้องเรียนว่า โรงงานแห่งนี้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วยลำคลองและแม่น้ำสายหลัก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก
          จากการตรวจสอบพบว่าได้มีการขยายโรงงานและตั้งเครื่องจักรเกินกว่าที่ขออนุญาตไว้ อีกทั้งการบำบัดน้ำเสียจากการบดย่อยแผ่นซีดีไม่ได้มีมาตรฐาน พร้อมกับแจ้งข้อหาเจ้าของโรงงานฐานขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เนื่องจากเป็นคดีโทษปรับ จึงต้องรอให้เจ้าตัวเข้ามารายงานตัวก่อน หากไม่มาก็จะส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีตามขั้นตอน และสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขบ่อบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องตามมาตรฐานภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้
          ด้านนายดำรง ใจมูล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านแม่ฮาว กล่าวว่า สำหรับเจ้าของโรงงานเป็นคนนอกพื้นที่ ตอนแรกได้มาซื้อที่ดินประมาณ 7 ไร่ เพื่อสร้างบ้านพักอาศัย แต่ต่อมากลับเปิดกิจการรับซื้อของเก่าและสร้างโกดังเพิ่ม อ้างว่าจะคัดแยกและบดซีดี จนในช่วงฤดูฝนน้ำในโรงงานได้ทะลักลงสู่ลำห้วยทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษ น้ำบาดาลที่ใช้สำหรับทำประปาหมู่บ้านมีสารหนูเจือปน ชาวบ้านไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภายในโรงงานเจ้าหน้าที่ยังพบเอกสารรับรอง Green Industry (อุตสาหกรรมสีเขียว) ระดับที่ 1 ที่ออกโดยข้าราชการระดับสูงรายหนึ่ง ลงวันที่ 13 ก.ค.59 ด้วย
          ขณะเดียวกันที่ จ.ฉะเชิงเทรา พ.อ.ทวีพูล ริมสาคร รองผบ.พล.ร.11 พร้อมด้วยนายวีระกิตต์ รันทกิจธนวัชร์ อุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและฝ่ายงานเกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจโรงงานที่ขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบกิจการคัดแยกขยะอันตราย โดยนำของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ผ่านกรรมวิธีบดย่อย และหลอมโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ ในอ.บางปะกง 3 แห่ง ประกอบด้วย
          1.บริษัท แมดด็อกซ์ คอร์ป จำกัด เลขที่ 42/1 หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง ซึ่งขออนุญาตประกอบกิจการบดย่อยแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ พบเป็นอาคารชั้นเดียวให้เช่าทั่วไป โดยมี บริษัทหงส์ด๋า เทรดดิ้ง จำกัด มาเช่าสถานที่แห่งนี้ เบื้องต้นพบผู้ดูแลอาคารแจ้งว่าเจ้าของบริษัทเดินทางไปต่างประเทศ จากการตรวจสอบภายในอาคารพบเศษกองวัสดุ ประเภทยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วจำนวนมาก ถูกวางกองไว้รอการคัดแยกเพื่อเอาลวดทองแดงที่อยู่ภายในยางรถยนต์ โดยพบว่าบริษัทนี้ไม่เคยขออนุญาตประกอบกิจการต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และไม่เคยแจ้งต่อเทศบาลตำบลท่าข้ามด้วย เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปแจ้งความที่ สภ.บางปะกง ให้ดำเนินคดีกับบริษัทในข้อหามีวัสดุที่เป็นอันตรายต่อประชาชนไว้ในครอบครอง
          2. บริษัท ซันโคะ คินโชคุ(ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 105/10 หมู่ 3 ถ.เทพรัตน ต.ท่าข้าม ซึ่งขออนุญาตประกอบกิจการ บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พบเป็นอาคารชั้นเดียวให้เช่า มีการขออนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว มีผู้ดูแล 3 ราย ภายในอาคารมีเศษสายไฟ และเศษแผ่นแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ใส่ถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก พบว่ามีเครื่องจักรติดตั้งไว้เพื่อตัดย่อยเศษสายไฟ ไม่มีการเผา หรือหลอมวัสดุแต่อย่างใด ผู้ดูแลอ้างว่าของที่มีอยู่ในอาคารเตรียมส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้แจ้งการดำเนินกิจการกับเทศบาลตำบลท่าข้าม จึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหามีวัสดุที่เป็นอันตรายต่อประชาชนไว้ในครอบครอง
          3. บริษัท ซีอีเอ คลีนโปรดักส์ จำกัด หมู่ 5 ต.สองคลอง อ.บางปะกง ขออนุญาตประกอบกิจการ ทำเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว และตัวทำลายที่ใช้แล้ว ทำเชื้อเพลิงผสม (Blending) ซ่อมและล้างถังบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำลาย ทำสีกันสนิมเกรดบี บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บดย่อยตะกรันโลหะ ทำอิฐประสานจากทรายหล่อแบบที่ไม่เป็นของเสียอันตราย เก็บรวบรวมแบตเตอรี่เก่าโดยไม่มีการแปรสภาพ พบเป็นที่ดินว่างเปล่า ยังไม่มีการก่อสร้างเป็นโรงงงานแต่อย่างใด

          ที่มา: www.dailynews.co.th