แฉ10ปีมี35ประเทศ ส่งออกขยะพิษเข้าไทย ลำปางสั่งปิดโรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลอง
Source - เดลินิวส์ (Th)

Friday, June 08, 2018  03:17
31777 XTHAI XOTHER XFRONT DAS V%PAPERL P%DND

          ล้อมคอกปัญหา "ขยะพิษ" ทะลักเข้าไทย อุตสาหกรรม จ.ระยอง ลุยตรวจโรงงานนับร้อยแห่ง ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา จนท.เดินหน้าสกรีนโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอ นิกส์ พบผิด 2 แห่ง ข้อหามีวัสดุที่เป็นอันตรายต่อประชาชนไว้ในครอบครอง ขณะที่ จ.ลำปาง สั่งปิดโรงงานขยะ บดทำลายซีดีนำเข้าจากจีน เผยขยายโรงงาน-ติดตั้งเครื่องจักรเกินกว่าที่ ขออนุญาต แถมลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง ทำชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ด้าน "พท." จี้รัฐเร่งจัดการปัญหานำเข้าขยะอิเล็ก ทรอนิกส์ ปูด 10 ปีที่ผ่านมา มี 35 ประเทศส่งขยะพิษเข้าไทย แนะผู้ผลิตรับผิดชอบรีไซเคิลสินค้าของตัวเองที่หมดอายุ
          กรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าสอบสวนเอา ผิดผู้ลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย โดยอยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องว่าได้ลักลอบนำขยะเหล่านี้ไปคัดแยก หลอม หรือฝังกลบทำลายโดยผิดกฎหมาย จนส่งผลให้เกิดมลพิษในประเทศไทยเป็นอย่างมากนั้น
          ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายสนั่น โกสาวัง เจ้าพนักงานตรวจโรงงานชำนาญการ อุตสาหกรรม จ.ลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้ ได้สั่งปิดโรงงานแปรรูปขยะรีไซเคิล ตงเฮง พลาสติกรีไซเคิล เลขที่ 407/2 หมู่ 3 บ้านแม่ฮาว ต.ห้างฉัตร ซึ่งเป็นโรงงานบดทำลายแผ่นซีดีที่นำเข้าจากประเทศจีน หลังได้รับการร้องเรียนว่า โรงงานแห่งนี้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วย ลำคลอง และแม่น้ำสายหลัก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการตรวจสอบพบว่าได้มีการขยายโรงงานและตั้งเครื่องจักรเกินกว่าที่ขออนุญาตไว้ อีกทั้งการ บำบัดน้ำเสียจากการบดย่อยแผ่นซีดีไม่ได้มีมาตรฐาน พร้อมกับแจ้งข้อหาเจ้าของโรงงานฐานขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เนื่องจากเป็นคดีโทษปรับ จึงต้องรอให้เจ้าตัวเข้ามารายงานตัวก่อน หากไม่มาก็จะส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีตามขั้นตอน และสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขบ่อบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องตามมาตรฐานภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้
          นายดำรง ใจมูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านแม่ฮาว กล่าวว่า สำหรับเจ้าของโรงงานเป็นคนนอกพื้นที่ ตอนแรกได้มาซื้อที่ดินประมาณ 7 ไร่ เพื่อสร้างบ้านพักอาศัย แต่ต่อมากลับเปิดกิจการรับซื้อของเก่าและสร้างโกดังเพิ่ม อ้างว่าจะคัดแยกและบดซีดี จนในช่วงฤดูฝนน้ำในโรงงานได้ทะลักลงสู่ลำห้วยทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษ จนน้ำบาดาลที่ใช้สำหรับทำประปาหมู่บ้านมีสารหนูเจือปน ชาวบ้านไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภายในโรงงานเจ้าหน้าที่ยังพบเอกสารรับรอง Green Industry (อุตสาหกรรมสีเขียว) ระดับที่ 1 ที่ออกโดยข้าราชการระดับสูงรายหนึ่ง ลงวันที่ 13 ก.ค. 59 ด้วย
          ที่ จ.ระยอง นายณัฐกรวีร์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีข่าวการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย ในส่วนของ จ.ระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 2,000 แห่ง จึงได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ไล่ตรวจโรงงานเป้าหมายประเภทโรงงานรับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ ยังตรวจโรงงานประเภทรีไซเคิลและที่รับซื้อพลาสติกด้วย โดยไล่ตรวจได้กว่า 100 โรงงานแล้ว ซึ่งจากการตรวจพบ บริษัทไฮเทคพลาส จำกัด พื้นที่หมู่ 2 ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา รับซื้อพลาสติกมาหลอม และขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงสั่งให้แก้ไขและดำเนินการให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังตรวจสอบกรณีที่มีการนำเข้าพลาสติกเข้ามากว่า 2,000 ตัน ด้วยว่าได้ดำเนินการผิดเงื่อนไขตามที่ได้สำแดงไว้กับกรมศุลกากรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในขณะนี้ในพื้นที่ จ.ระยอง ยังไม่พบการลักลอบนำเข้ากากขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด
          ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ช่วงสายวันเดียวกัน พ.อ.ทวีพูล ริมสาคร รอง ผบ.พล.ร.11 พร้อมด้วยนายวีระกิตต์ รันทกิจธนวัชร์ อุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมมลพิษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก กรมควบคุมมลพิษ และคณะทำงานตรวจสอบโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยก หรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจโรงงานที่ขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบกิจการคัดแยกขยะอันตราย โดยนำของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ผ่านกรรมวิธีบดย่อย และหลอมโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ ใน อ.บางปะกง 3 แห่ง ประกอบด้วย
          1.บริษัท แมดด็อกซ์ คอร์ป จำกัด เลขที่ 42/1 หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง ซึ่งขออนุญาตประกอบกิจการบดย่อยแผงวงจรอิเล็ก ทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ พบเป็นอาคารชั้นเดียวให้เช่าทั่วไป โดยมี บริษัทหงส์ด๋า เทรดดิ้ง จำกัด มาเช่าสถานที่แห่งนี้ เบื้องต้นพบผู้ดูแลอาคารแจ้งว่าเจ้าของบริษัทเดินทางไปต่างประเทศ จากการตรวจสอบภายในอาคารพบเศษกองวัสดุ ประเภทยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วจำนวนมาก ถูกวางกองไว้รอการคัดแยกเพื่อเอาลวดทองแดงที่อยู่ภายในยางรถยนต์ โดยพบว่าบริษัทนี้ไม่เคยขออนุญาตประกอบกิจการต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และไม่เคยแจ้งต่อเทศบาลตำบลท่าข้ามด้วย เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปแจ้งความที่ สภ.บางปะกง ให้ดำเนินคดีกับบริษัท ในข้อหามีวัสดุที่เป็นอันตรายต่อประชาชนไว้ในครอบครอง
          2.บริษัท ซันโคะ คินโชคุ (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 105/10 หมู่ 3 ถนนเทพรัตน ต.ท่าข้าม ซึ่งขออนุญาตประกอบกิจการบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พบเป็นอาคารชั้นเดียวให้เช่า มีการขออนุญาตจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว มีผู้ดูแล 3 ราย ภายในอาคารมีเศษสายไฟ และเศษแผ่นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใส่ถุงบิ๊กแบ๊กจำนวนมาก พบ ว่ามีเครื่องจักรติดตั้งไว้เพื่อตัดย่อยเศษสายไฟ ไม่มีการเผา หรือหลอมวัสดุแต่อย่างใด ผู้ดูแลอ้างว่าของที่มีอยู่ในอาคารเตรียมส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้แจ้งการดำเนินกิจการกับเทศบาลตำบลท่าข้าม จึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหามีวัสดุที่เป็นอันตรายต่อประชาชนไว้ในครอบครอง
          3.บริษัท ซีอีเอ คลีนโปรดักส์ จำกัด  หมู่ 5 ต.สองคลอง อ.บางปะกง ขออนุญาตประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว และตัวทำลายที่ใช้แล้ว ทำเชื้อเพลิงผสม (Blending) ซ่อมและล้างถังบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำลาย ทำสีกันสนิมเกรดบี บดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บดย่อยตะกรันโลหะ ทำอิฐประสานจากทรายหล่อแบบที่ไม่เป็นของเสียอันตราย เก็บรวบรวมแบตเตอรี่เก่าโดยไม่มีการแปรสภาพ พบเป็นที่ดินว่างเปล่า ยังไม่มีการก่อสร้างเป็นโรงงานแต่อย่างใด
          อีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการจับกุมโรงงานลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแปรรูป ใช้วิธีการสำแดงเท็จว่าเป็นเศษพลาสติก โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่า ตลอดเวลากว่า 10 ปี ขยะพลาสติกเหล่านี้ถูกส่งมาที่ประเทศไทย จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กว่า 35 ประเทศ อาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย เยอรมนี เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ไนจีเรีย อิหร่าน สเปน เวียด นาม ตุรกี ฝรั่งเศส ปากีสถาน ยูเออี ฯลฯ ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในทุกครัวเรือน ส่งผลให้เกิดปัญหาจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีปริมาณมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 ต่อปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยเรายังไม่มีกฎหมายรองรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ
          ดังนั้น รัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดการแก้ปัญหาแบบเต็มรูปแบบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดออกกฎหมายให้ เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งกระบวนการออกกฎหมายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. และยังไม่ทราบระยะเวลาว่าอีกกี่ปีจึงจะแล้วเสร็จ ในส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตควรจะรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตนผลิตตลอดอายุวงจรชีวิตของสินค้า เมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิต ผู้ผลิตควรนำสินค้าเหล่านั้นกลับคืน เข้ากระบวนการรีไซเคิลสำหรับนำกลับมาใช้งานใหม่หรือกำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย.

          บรรยายใต้ภาพ 
          ลุยตรวจ...พ.อ.ทวีพูล ริมสาคร รอง ผบ.พล.ร.11 นำคณะตรวจสอบบริษัทแมดด็อกซ์ คอร์ป จำกัด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ขณะที่นายสนั่น โกสาวัง (ภาพเล็ก) เจ้าพนักงานตรวจโรงงานฯสั่งปิดโรงงาน "ตง เฮง พลาสติกรีไซเคิล" อ.ห้าง ฉัตร จ.ลำปาง แล้ว--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์