นักวิชาการด้านยาชี้บทเรียนเมจิกสกิน ถึงเวลาปฏิรูปอย. ย้ำทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องช่วย
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)

Monday, June 04, 2018  22:53
48601 XTHAI XLOCAL V%NETNEWS P%WNN

          4 มิ.ย.61 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวในงานเสวนา “จากกรณีเมจิกสกินถึงการบุกค้นตลาดใหม่ดอนเมือง สื่อทำหน้าที่อย่างไร และผู้บริโภคได้อะไร” ถึงเหตุการณ์กวาดล้างผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “เมจิกสกิน” (Magic Skin) และ “ลีน” (LYN) เพราะตรวจพบสารต้องห้ามที่เป็นอันตราย โดยมีดาราที่รับโฆษณาสินค้าดังกล่าวบางรายระบุว่าเห็นเครื่องหมาย “อย.” แล้วคิดว่าปลอดภัยไม่น่ามีอะไรผิด
          โดยผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า วันนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังมีปัญหา เช่น การขึ้นทะเบียนอาหารตามกฎหมายแล้วไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณได้ ส่วนยานั้นปกติไม่ได้ใช้เครื่องหมาย อย. อยู่แล้ว กระทั่งในยุคหนึ่ง อย. สนับสนุนให้อาหารเข้ามาจดแจ้งกับ อย. ได้ ส่งผลให้อาหารและเครื่องสำอางเข้ามาจดทะเบียนกับ อย. เป็นจำนวนมาก ประชาชนก็จะคุ้นเคยกับเครื่องหมาย อย. แต่ด้วยความที่พยายามปรับระบบการจดทะเบียนให้รวดเร็ว ทำให้เกิดช่องว่างในการติดตามตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มาขอจดแจ้งดังกล่าว
          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี
          “พอขึ้นจดกันบวมเยอะแล้วข้อมูลไม่แน่น ฝั่งตรวจสอบก็ตามไม่ไหว ก็เกิดปัญหากับคำว่า อย. แล้วทาง อย. ตอบมาน่าเป็นห่วงมาก คือคำว่า อย. ไม่ได้การันตีอะไรเลย อันนี้น่ากลัว คือมีตั้งแต่ อย.ปลอม แล้วเยอะมาก เอาอาหารเอาน้ำปลาไปปลอมเครื่องสำอาง กับ อย.จริง แต่เป็นการจดแจ้งที่คุณไม่ได้การันตีอนุญาต แล้วมันก็จะเกิดปัญหาตามมา ตอนนี้ อย. เขาก็ค่อยๆ รู้ตัวว่าพลาดไปตอนนั้น ก็ค่อยๆ มารื้อระบบ แต่มันเป็นมหากาพย์ที่ระบบ อย. มันต้องใช้วัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องแก้ไขอยู่เยอะ” ภญ.นิยดา กล่าว
          ภญ.นิยดา กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของ อย. คือสามารถทำให้เครื่องหมาย อย. ติดตลาด แต่คนยังไม่รู้ข้อเท็จจริงเท่าใดนักประกอบกับคนไทยมีนิสัยแสวงหาข้อมูลน้อย แน่นอนสำหรับดาราที่รับงานโฆษณาจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้เพราะส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมาย ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีกในอนาคต ต้องมีคู่มือแนวปฏิบัติสำหรับคนที่จะรับงานโฆษณาสินค้า ทำความเข้าใจในตัวกฎหมายว่าคำว่าโฆษณากินความได้แค่ไหน รวมถึงประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมเฝ้าระวังได้อย่างไร
          นอกจากนี้ ภาครัฐต้องทำงานบูรณาการกัน เพราะนอกจาก อย. แล้วยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตำรวจ รวมถึงกรมศุลกากร เพื่อปิดช่องว่างทางกฎหมายทั้งหมด
          “เคยมีกรณีซูโดเอฟริดีนที่นำไปใช้ผลิตยาบ้า พอสาวไปลึกๆ พบว่ามันหลุดเข้ามาโดยไม่ได้ระบุพิกัดเป็นยา ซูโดเอฟริดีนสมัยนั้นยังขั้นทะเบียนเป็นยากับวัตถุออกฤทธิ์ได้อยู่ การเข้ามาโดยที่กรมศุลกากรไม่รู้ ที่รู้เพราะ อย. ของเกาหลีส่งข่าวมาให้ สะท้อนเลยว่ามันมีช่องว่างตรงนั้นเกิดขึ้น” ภญ.นิยดา ยกตัวอย่าง

          ที่มา: http://www.naewna.com