ต้าน...ขยะอิเล็กทรอนิกส์โลกปลุกชีพสิ่งแวดล้อมปิดช่องต่างชาติ โกยประโยชน์
Source - เดลินิวส์ (Th)

Monday, June 11, 2018  05:57
58077 XTHAI XOTHER XCLUSIVE XGEN MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน
          ไม่ควรเป็นการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง จากภาพข้อเท็จจริงที่พบว่าประเทศไทยกำลังกลายเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับ (HUB) ขยะอิเล็กทรอ นิกส์ (E-Waste) แห่งใหม่ของโลก แทนประเทศจีนที่เดิมมีแหล่งรับขยะอิเล็กทรอ นิกส์เป็นที่รู้จักกันอยู่ที่เมืองกุ้ยหวี่ (Guiyu) มณฑลกวางตุ้ง แต่หลังจีนห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สถานการณ์ประเทศไทยกลับเป็นปลายทางขยะดังกล่าวดังที่ปรากฏเป็นข่าวสนธิกำลังร่วมของตำรวจ กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบการลักลอบกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย
          ที่มาที่ไปของปฏิบัติการตรวจสอบที่ฉายให้เห็นสภาพปัญหาดังกล่าว พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร เผยว่า เริ่มจากการได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนถึงความเดือดร้อนที่เกิดจากโรงงานคัดแยกขยะและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดกฎหมาย จนมีคำสั่งการให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ
          อันเป็นที่มาของข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะไทยกลายเป็นศูนย์รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกโดยไม่รู้ตัว แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกระทั่งผู้นำชุมชนก็ไม่รู้ว่าโรงงานที่ขออนุญาตในพื้นที่แจ้งประกอบการอย่างหนึ่งแต่แท้จริงเป็นโรงงานกำจัดกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากทั่วโลก มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้องรวมถึงการนำเข้าถ่านหินเพื่อใช้เผาก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนสูดดมสารอันตรายที่ระเหยออกมาเข้าสู่ร่างกาย ทั้งสารตะกั่ว สารแคดเมียม สารปรอท สารโครเมียม สารเบอริลเลี่ยม สารหนู สารแบเรียม
          พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบโรงงานหลายแห่งตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชีทั้งหมด ตามแต่อยากจะลงบัญชีว่าเป็นเท่าไหร่ มีการหลบเลี่ยงภาษี ผู้บริหารตลอดจนแรงงานเป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ในทางเศรษฐกิจประเทศไทยแทบไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ เลย
          "ยกตัวอย่างมีโรงงานที่ทำลายกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำออกมาแล้วก็ต้องส่งกลับไปยังประเทศที่นำเข้ามา แต่ปรากฏว่า นำไปใส่ในถังทรงกลมประมาณ 800 กก. แล้วจุดไฟเผา พอเผาเสร็จจะเหลือทองแดงอยู่ก้นถังประมาณ 300 กก. อีก 500 กก. ระเหยขึ้นไปในอากาศ กลายเป็นสารอันตราย พูดง่ายๆว่าของมา 800 กก. ลอยไปในอากาศ 500 กก. เหลืออยู่ก้นถัง 300 กก. แล้วคิดถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาปีละเป็นแสนตัน คนในโรงงานหรือชาวบ้านใกล้เคียงที่สูดดมถือเป็นอันตราย ยิ่งพอฝนตกสารอันตรายอาจไหลลงแหล่งน้ำรอบ ๆ ต้นไม้ก็ดูดซับเป็นผลกระทบไปถึงผลผลิตเกษตรกรรม
          อย่างที่ไปตรวจที่ คลองท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้นแควหนึ่ง ของลำน้ำบางปะกง ชาวบ้าน 2 ริมคลองท่าลาดซึ่งเป็นคลองใหญ่สูบ น้ำไปใช้อุปโภคบริโภค ชาวบ้าน 2 ริมน้ำบาง ปะกงก็ใช้น้ำจากลำน้ำบางปะกง ซึ่งบางส่วนของลำน้ำบางปะกงก็ถูกนำมาใช้เป็นน้ำประปาในกรุงเทพฯ เรื่องนี้จะมองเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้" รองผบ.ตร. กล่าว
          จากข้อมูลระบุว่าปัจจุบันมีผู้ที่ขออนุญาตนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาประเทศไทยตามใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย (วอ.4) จำนวน 7 บริษัท ประกอบด้วย
          บ.ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ที่เขตลาดกระบัง กทม. นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จาก 3 ประเทศ คือ ศรีลังกา สิงคโปร์ และอังกฤษ, บ.โอ.จี.ไอ. จำกัด ตั้งอยู่ท อ.บางพลี สมุทรปราการ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศเกาหลี, บ.หย่งถัง ไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทรา นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกง, บ.เจ.พี.เอส เมทัลกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกง , บ.หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
          บจก.เอส.เอส.อิมปอร์ต เอ็กปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ที่อ.บางเสาธง สมุทรปราการ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสิงคโปร์ , และบ.ฟูจิ ซีร๊อกซ์ อีโค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา ชลบุรี มีใบอนุญาต 5 ใบ นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
          อย่างไรก็ตาม บริษัทข้างต้นทุกบริษัทไม่ใช่ของคนไทย 100 % แต่เป็นของชาวต่างชาติ มีโควตานำเข้าขยะทั้งหมดกว่า 100,000 ตัน โดยปี 60 และ61 มีการนำเข้าแล้วกว่า 90,000 ตัน ขณะที่เฉพาะประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์แค่ 4,700 ตัน แสดงให้เห็นว่ากำลังรับภาระขยะอิเล็กทรอนิกส์มากำจัดที่ประเทศไทย
          สำหรับลักษณะการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์พบลักลอบนำเข้ามาได้ 3 กรณี คือ 1.ผู้มีใบอนุญาตนำเข้า วอ.4 ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็นำมาโดยถูกต้อง แต่มีการนำไปให้ผู้อื่นจัดการต่อ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตามกฎหมายระบุให้ผู้ที่นำเข้ามาต้องนำเข้ามาตามกำลังการผลิตของตัวเอง คัดแยกด้วยตนเอง จะส่งให้คนอื่นไม่ได้ เมื่อคัดแยกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งกลับไปยังประเทศต้นทางเดิม แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้ผู้มีใบอนุญาตนำเข้า กลับนำเข้ามาแล้วส่งไปให้โรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต
          2.สำแดงเท็จ ว่าเป็นพลาสติก ทั้งที่จริงเป็นการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
          3.นำเข้ามาในลักษณะไม่ใช่วัตถุอันตราย เช่น ชิ้นส่วนเศษทองแดง ที่ไม่ถือเป็นวัตถุอันตราย แต่เป็นเศษทองแดงที่มีชนวนพีวีซีหุ้ม มีขยะอิเล็กทรอนิกส์หุ้ม ขณะนี้มีผู้ที่แจ้งประกอบกิจการโรงงาน 106 แล้ว 148 ราย แจ้งประกอบการแล้ว 103 ราย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกใกล้กับท่าเรือน้ำลึก เพราะต้องขนส่งมาจากต่างประเทศ ที่เหลือกระจายไปยังภาคเหนือ
          จังหวัดที่พบมากสุด เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว ปราจีนบุรี
          สำหรับฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ประกอบด้วย พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 202 ข้อหาสำแดงเท็จ โทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท มาตรา 243 ข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง การเสียอากรโดยเจตนาและฉ้อโกงภาษีของนั้น ๆ โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 4 เท่าของราคา พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า มาตรา 20 ข้อหาผู้ใดส่งออกหรือนำเข้าซื้อสินค้าต้องห้ามตาม มาตรา 5(1) หรือ ฝ่าฝืนมาตรา 7 วรรค 1 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 23 วรรค 1 ข้อหานำเข้าหรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลอยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น แนวโน้มขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นข้อกังวลของหลายประเทศในด้านการคัดแยกและกำจัด ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างมาตรฐานจัดการขยะเหล่านี้ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด.

          บรรยายใต้ภาพ 
          ตื่นตัวสอบโรงงานรีไซเคิลขยะ
          ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการลักลอบทิ้งสารเคมี
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 มิ.ย. 2561 (กรอบบ่าย)--