'เมจิกสกิน'วิกฤติศรัทธา'เครื่องหมาย อย.'
Source - แนวหน้า (Th)

Monday, June 11, 2018  07:53
11268 XTHAI XEDU DAS V%PAPERL P%NND

          เป็นอีกคดีที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นในกลไกของรัฐ กับการกวาดล้างผลิตภัณฑ์ "เมจิกสกิน" (Magic Skin) หลังตรวจพบสารอันตรายทั้ง บิซาโคดิล (Bisacodyl)-ไซบูทรามีน (Sibutramine) เนื่องจากพบว่ามีบรรดา "คนดัง" จากหลายแวดวงเข้าไปร่วมรับงานโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และเมื่อต้องเข้าไปให้ปากคำกับตำรวจ ก็มีบางรายชี้แจงว่า "เห็น ข้างกล่องมีเครื่องหมาย อย. จึงคิดว่า ไม่ผิดกฎหมาย สามารถโฆษณาได้"ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า "ตกลงแล้วเครื่องหมาย อย. ยังน่าเชื่อถือหรือไม่?" ยังรับรองความปลอดภัยให้ประชาชนได้หรือเปล่า?
          ที่งานเสวนา "จากกรณีเมจิกสกินถึงการบุกค้นตลาดใหม่ดอนเมือง สื่อทำหน้าที่อย่างไร และผู้บริโภคได้อะไร" ณ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า วันนี้ในส่วน ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ยังมีปัญหา เช่น การขึ้นทะเบียนอาหารตามกฎหมายแล้วไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณได้ ส่วนยานั้นปกติไม่ได้ใช้เครื่องหมาย อย. อยู่แล้ว
          กระทั่งในยุคหนึ่ง อย. สนับสนุน ให้อาหารกับเครื่องสำอางเข้ามาจดแจ้ง กับ อย. ได้ ส่งผลให้มีผู้เข้ามา จดทะเบียนกับ อย. เป็นจำนวนมาก และประชาชนก็จะคุ้นเคยกับเครื่องหมาย อย. แต่ด้วยความที่พยายามปรับระบบ การจดทะเบียนให้รวดเร็ว "มีผู้จดแจ้ง จำนวนมากจนผู้ตรวจสอบตาม ไม่ไหว" ทำให้เกิดช่องว่างในการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มาขอจดแจ้งดังกล่าว
          "ทาง อย. ตอบมาน่าเป็นห่วงมาก คือคำว่า อย. ไม่ได้การันตี อะไรเลย อันนี้น่ากลัว คือมีตั้งแต่ อย.ปลอม แล้วเยอะมาก เอาอาหาร เอาน้ำปลาไปปลอมเครื่องสำอาง กับ อย.จริง แต่เป็นการจดแจ้งที่คุณ ไม่ได้การันตีอนุญาต แล้วมันก็จะเกิดปัญหาตามมา ตอนนี้ อย. เขาก็ค่อยๆ รู้ตัวว่าพลาดไปตอนนั้น ก็ค่อยๆ มารื้อระบบ แต่มันเป็นมหากาพย์ที่ระบบ อย. มันต้องใช้วัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องแก้ไขอยู่เยอะ" ภญ.นิยดา กล่าว
          ภญ.นิยดา กล่าวต่อไปว่า "เรื่องนี้ เป็นทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของ อย. คือสามารถทำให้เครื่องหมาย อย. ติดตลาด แต่คนยังไม่รู้ข้อเท็จจริง เท่าใดนัก" ประกอบกับคนไทยมีนิสัยแสวงหาข้อมูลน้อย ซึ่งสำหรับ "ดาราที่รับงานโฆษณาจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้เพราะส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมาย ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม" ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก "ในอนาคตต้องมีคู่มือแนวปฏิบัติสำหรับคนที่จะรับงานโฆษณาสินค้า" ทำความเข้าใจ ในตัวกฎหมายว่าคำว่าโฆษณากินความได้แค่ไหน รวมถึงประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมเฝ้าระวังได้อย่างไร
          รวมถึงต้องมี "ระบบตรวจสอบ สาเหตุของอาการป่วยตั้งแต่ใน โรงพยาบาล" เนื่องจากพบกรณี ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ "ลีน" (LYN) เสียชีวิตถึง 11 คน ในรอบ 5 ปี โดยในตอนแรก ที่ผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล แพทย์หรือพยาบาลระบุเพียงเป็นโรคหัวใจหรือมีอาการทางจิตประสาทเท่านั้น ซึ่งสารไซบูทรามีนก็ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทด้วยเช่นกัน แต่แพทย์หรือพยาบาลทำแต่เพียงรักษาตามอาการ ทำให้ท้ายที่สุดผู้ป่วยเสียชีวิต จึงเสนอว่าควรให้เภสัชกรร่วมตรวจสอบด้วย เช่น ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือไม่? จะเป็นการเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง
          นอกจากนี้ "ภาครัฐต้องทำงาน อย่างบูรณาการ" หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องช่วย อย. ทำงานด้วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตำรวจ และกรมศุลกากร เพื่อปิดช่องว่างทางกฎหมายทั้งหมด
          "เคยมีกรณีซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) ที่นำไปใช้ผลิตยาบ้า พอสาวไปลึกๆ พบว่ามันหลุดเข้ามาโดยไม่ได้ระบุพิกัดเป็นยา ซูโดเอฟีดรินสมัยนั้นยังขึ้นทะเบียนเป็นยากับวัตถุออกฤทธิ์ได้อยู่ การเข้ามาโดยที่กรมศุลกากรไม่รู้ ที่รู้เพราะ อย. ของเกาหลีส่งข่าวมาให้ สะท้อนเลยว่ามันมีช่องว่างตรงนั้นเกิดขึ้น" ภญ.นิยดา ยกตัวอย่าง
          เช่นเดียวกับ สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้กฎหมายและกลไก ของรัฐยังมีปัญหา เช่น กฎหมายที่ อย. ถืออยู่เป็นกฎหมายเก่า ทั้ง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510-พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 บทลงโทษต่ำมากเมื่อเทียบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อาทิ มีโทษปรับเพียงไม่เกิน 5,000 บาท หรือการ ส่งเสริมให้จดทะเบียนออนไลน์เพื่อ ความรวดเร็วจนการติดตามตรวจสอบ เกิดตกหล่น เช่น จดทะเบียนบริษัทแต่ไม่มีอาคารที่ตั้งอยู่จริง ไปพบว่าเป็นเพียงบ้านเรือนบ้าง หรือพบว่าใช้โรงงานผลิตปุ๋ยเป็นสถานที่ผลิตอาหารบ้าง
          รวมถึงการทำงานที่ขาดการประสานงาน เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นระยะๆ แต่ อย. ไม่นำข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมถึงมีบางกรณี "กรมวิทย์ ตรวจเจอสาร อันตรายแบบซ้ำซาก แต่ อย. ไม่ประกาศ เตือน" หรือการโฆษณา "แม้จะกำหนด คำห้ามใช้ เช่น ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดีที่สุด ใช้แล้วขาว แต่ข้อห้ามดังกล่าวไม่มีสถานะทางกฎหมาย" เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น
          "คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนทำแบบ สอบถามในระยะเวลา 41 วัน เหตุผล ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ ตรงนี้มันสอดคล้องกับกรณีเมจิกสกิน เขาบอกว่าโฆษณาจูงใจ มี พรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง คิดว่าซื้อมาแล้วจะได้ผลเหมือนโฆษณา สัดส่วนตรงนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ และอีกส่วนที่เป็นประเด็นฮือฮา คือเขาเห็นโลโก้ อย. ก็คิดว่าปลอดภัย สัดส่วนตรงนี้มีถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกันเลยกับเรื่องของโฆษณา"สถาพร ระบุ
          อีกด้านหนึ่ง ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และกรรมการจริยธรรม สภาการ หนังสือพิมพ์แห่งชาติ เสนอแนะว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องจัดทำแนวปฏิบัติการโฆษณาสินค้าเผยแพร่ให้กับผู้ที่จะรับรีวิวสินค้า ซึ่งมีตัวอย่างแล้วที่ สหรัฐอเมริกา โดยคณะกรรมาธิการการค้า (Federal Trade Commission-FTC) มีข้อปฏิบัติให้กับคนที่จะมารีวิวสินค้าต่างๆ และมีการส่งหนังสือเตือนเป็นรายบุคคลด้วยหากนำเสนออย่างไม่เหมาะสม
          "ต้องยอมรับว่าสมัยนี้คนเชื่อคนดังมากกว่าโฆษณาด้วยซ้ำ แต่ยังไม่มีเจ้าภาพมาจัดระเบียบ อย่างที่อเมริกาเขากำหนดเลยว่าคุณต้องใช้จริง ดังนั้นต้องมีการทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าสินค้านี้ ใช้เป็นเวลาเท่าไรจึงจะเห็นผล"อาจารย์สกุลศรี กล่าว
          ต้องยอมรับว่าคนไทยถูกปลูกฝัง กันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า "ให้เลือกใช้สินค้าที่มีเครื่องหมาย อย." จนเกิดความเคยชิน "เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มี อย. อยู่บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ ย่อมคิดว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยและได้รับการรับรองตามกฎหมาย"สามารถซื้อหามาบริโภค รับผลิตภัณฑ์ มาขายต่อ รวมถึงรับงานโฆษณาสินค้านั้นได้ กระทั่งเกิดกรณีเมจิกสกินที่เป็น "วิกฤติศรัทธา" ต่อเครื่องหมาย อย. ตามที่เป็นข่าว
          แต่การกู้ศรัทธาในเครื่องหมาย อย. กลับมาให้ประชาชนเชื่อมั่น คงไม่อาจทำได้โดย อย. เพียง หน่วยงานเดียว หากเป็นทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือ!!!
          ไซบูทรามีน (Sibutramine) ในอดีตเคยถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนัก โดยมีสรรพคุณเข้าไปยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง (Serotonin, Norepinephrine และ Dopamine) ทำให้รู้สึกอยากรับประทานอาหารน้อยลง แต่ในเวลาต่อมาพบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ เจ็บหน้าอก ตาพร่ามัว และร้ายแรงที่สุดคือถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้ในปี 2553 ไซบูทรามีนถูกถอดออกจากบัญชียาของสหรัฐอเมริกา และจากนั้นประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ก็ทยอยทำเช่นเดียวกัน
          ขณะที่ น.ส.ธารทิพย์ สุวรรณเกศ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขียนบทความ "เพิ่มปลอดภัยตลาดเครื่องสำอางไทย ทางออกที่เป็นไปได้แม้จดแจ้งออนไลน์" ระบุว่า ไทยคงไม่สามารถยกเลิกระบบจดแจ้งออนไลน์ได้เพราะเป็นกระแสสากล จึงเสนอทางออกระยะสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และตำรวจ สุ่มตรวจทุกๆ 3-4 เดือน หากพบต้องรีบดำเนินการตามกฎหมายและแจ้งเตือนประชาชนทันที ส่วนระยะยาว อาจต้องให้หน่วยงานภายนอกร่วมออกตรวจอีกทางหนึ่ง
          บรรยายใต้ภาพ
          (จากซ้ายไปขวา) ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, สถาพร อารักษ์วทนะ, ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า