อย่าหมดหวัง! 'นักธรณีวิทยา' มั่นใจต้องเจอเด็ก-โค้ช13ชีวิต แนะหาจุดเข้าทางใหม่
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)

Tuesday, June 26, 2018  13:19
28373 XTHAI XLOCAL V%NETNEWS P%WNN

          วันนี้ (26 มิ.ย.61) นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือทีมนักเตะเยาวชน-โค้ชทีมฟุบอลหมูป่า รวม 13 ชีวิต หายเข้าไปในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำดอยนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ทางกรมธรณีวิทยาได้ตั้งศูนย์วอร์รูมขึ้นมาเพื่อที่จะวิเคราะห์แนวทางในการช่วยเหลือเด็กและโค้ชทั้งหมด 13 คนโดยการหาทางเข้าใหม่ อย่างไรก็ตาม ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เกิดจากการละลายของน้ำ โดยแต่ละจุด ของถ้ำที่มีลักษณะขนาดใหญ่อย่างนี้ จะมีตะกอนดินสะสมอยู่ สลับกับการมีแอ่งน้ำ กรณีที่มีโถงหรือเพดานถ้ำแคบๆ ช่วงนี้น้ำอาจจะเต็ม ซึ่งลำบากมาก ทั้งนี้ ยังมีส่วนที่เป็นหินถล่ม เพราะปกติหากเราไปเที่ยวในถ้ำจะลำบากมาก แต่หากน้ำท่วมจะเป็นสิ่งที่ดี หากพวกเขาทั้ง 13 คนไปยืนตรงจุดนี้จะเป็นจุดที่ใช้สำหรับพักน้ำได้
          นายชัยพร เปิดเผยอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าเด็กจะยืนอยู่ตรงหาดพัทยานั้น คาดว่าระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จากปากถ้ำพอถัดไปจากหาดพัทยาก็จะมีจุดที่แคบจุดหนึ่ง และมีโถงยาวประมาณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยาวไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นโถงหลัก นอกจากนี้ยังมีจุดแยกอีกหลายโถง จะต้องดูว่าสถานการณ์นั้นเด็กจะไปอยู่ที่โถงไหน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะไปอยู่ตามโถงหลักก่อน แต่กรณีจากการที่สำรวจถ้ำนั้น จะมีโถงรองจึงอยากให้ตอนที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กเข้าไปยังจุดโถงรองด้วย
          นายชัยพร กล่าวต่อว่า ส่วนอากาศในถ้ำที่เป็นโถงสูงๆ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากเป็นโถงที่มีลักษณะเตี้ยก็น่าจะมีปัญหาเรื่องก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์จึงต้องระวัง ถ้าเป็นจุดที่ต่ำลงไปลักษณะของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะไปรวมตัวอยู่ในจุดนั้น ถ้าอยู่ในโถงที่สูงก็จะไม่เป็นอะไร โดยการทดลองจะใช้ไปแช็ค หรือเทียนไขจุดระดับไหล่ ย่อตัวลงพอถึงจุดหนึ่งไฟจะดับลงทันที แสดงว่าตรงนั้นมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เราจะต้องหลีกเลี่ยง
          นายชัยพร กล่าวว่า อากาศและน้ำในถ้ำจะคงที่ อุณหภูมิในถ้ำขณะนี้ ตนคิดว่าประมาณ 20-22 องศา ซึ่งเวลาที่เราหายใจเข้าไปไอน้ำกับลมหายใจจะกลายเป็นหมอกออกมา มันไม่น่ากลัวตามที่ปรากฏในคลิป หากมีน้ำไหลภายในถ้ำเด็กน่าจะหายใจได้โดยไม่มีปัญหา แต่ให้พยายามอยู่บนที่สูง หากเด็กหิวน้ำตนคิดว่าดื่มน้ำในถ้ำได้เลย เพื่อประทั้งชีวิตไว้ก่อน
          "ตอนนี้เราจะใช้แผนผังของถ้ำที่มีอยู่ประมาณ 1 กิโลเมตร และเอามาเทียบกับแผนผังที่ชาวต่างชาติทำไว้หลายกิโลเมตร และเอาแผนผังไปเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อความชัดเจน จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ว่าการเกิดถ้ำนั้น มันเกิดจากการถล่มเป็นหน้าผา โดยปกติหากมีหน้าผาจะต้องมีรู หรือมีช่อง เราจึงมองในแง่ดีว่าจะเจอเด็กในจุดนั้น จึงอยากฝากไปยังกลุ่มโดรนที่จะเข้าไปจับภาพ และโดรนอีกส่วนหนึ่งใช้รังสีอินฟราเรด ควรจะสำรวจตอนกลางคืนด้วย เพราะว่าจากคุณสมบัติของน้ำในถ้ำจะคงที่ ตอนกลางคืนหากปล่อยให้หินด้านบนเย็นไอน้ำต่างๆ จะจับความร้อนได้ หากส่องไปจะได้เจอช่องหรือรู เผื่อเด็กๆ รออยู่ตรงนั้น เราอย่าเพิ่งหมดกำลังใจในการตามหาเด็กเท่านั้นพอ" นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กล่าว

          ที่มา: http://www.naewna.com