คอลัมน์: นักทุพลภาพมืออาชีพ: สิทธิพื้นฐานที่ผู้พิการละเลย
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Tuesday, June 26, 2018  05:52
58729 XTHAI XGEN XOTHER XCOMMENT DAS V%PAPERL P%KT

          ปรีดา ลิ้มนนทกุล
          เมื่อคนพิการไปติดต่อ  ขอใช้บริการจากท่าน   ขอให้นึกว่า เป็นญาติของท่าน
          นื้อหาที่ผ่านมา คนพิการทราบว่าตนเองมีสิทธิ์จากหลายกองทุน แต่ก่อน ที่เราจะไปทราบสิทธิ์สำคัญเกี่ยวกับเรื่องการมีสิทธิ์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ ที่จะกล่าวในครั้ง ต่อไปนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และซับซ้อน แต่ถ้าหากคนพิการและญาติ ผู้ดูแลทราบแล้ว ชีวิตครอบครัวอาจมี การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
          ดังนั้น ในตอนนี้จึงขอเก็บตกสิทธิ์อื่นๆ ที่ควรทราบ โดยขอแนะนำเพิ่มเติมแตกต่างจากที่เคยกล่าวมา ดังนี้ครับ
          1. อ้างอิงตามประกาศสำนักงาน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2557 เรื่องอัตราค่าตอบแทนแก่ผู้ช่วยคนพิการ และรายการค่าตอบแทนอื่น ที่จัดให้มีบริการผู้ช่วยคนพิการ  (ฉบับที่ 2) กรณีการมี "ผู้ช่วยคนพิการ" โดยพิจารณาจากการที่คนพิการไม่มี ผู้ดูแล สามารถร้องขอต่อศูนย์บริการ คนพิการได้ โดยผู้ช่วยคนพิการจะได้รับค่าตอบแทนจากรัฐ สามารถให้ดูแลคนพิการได้วันละไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือเดือนละไม่เกิน 180 ชั่วโมง ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 50 บาท หรือ 300 บาทต่อวัน สามารถร้องขอได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี
          2. สำหรับคนพิการทางการได้ยิน สามารถขอบริการล่ามภาษามือ ตามระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ 2552 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2554 โดยสามารถขอใช้ บริการล่ามภาษามือในเรื่อง การแพทย์และสาธารณสุข การสมัครงานหรือประสานงานด้านอาชีพ การร้องทุกข์ กล่าวโทษหรือเป็นพยาน (ชั้นสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น) การร่วม ประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม การเป็นผู้บรรยาย โดยเบื้องต้นสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดหรือชมรม-สมาคมของคนพิการทางการได้ยินประจำจังหวัด
          3. หากผู้ดูแลคนพิการมีการยื่นภาษีบุคคลสามารถนำสิทธิ์ในการเป็นผู้ดูแลคนพิการไปหักลดหย่อนภาษีได้ คนละ 60,000 บาท และหากคนพิการ (อายุไม่เกิน 65 ปี) เป็นผู้ยื่นภาษีเงิน ได้เอง สามารถหักลดหย่อนในส่วนของตนเองไม่เกิน 190,000 บาท
          4. กรณีนายจ้างมีการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือไม่ก็ตาม  ค่าจ้างหรือเงินเดือนที่มีการยื่นประกันสังคม สามารถนำค่าจ้างหรือเงินเดือนของคนพิการไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก 1 เท่าในปีที่ยื่นภาษีนั้น ซึ่งจะทำให้นายจ้างและนายคนพิการได้ประโยชน์ร่วมกันในการได้รับการส่งเสริมอาชีพ
          5. ตามระเบียบคณะกรรมการ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แห่งชาติว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมาย และการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ กำหนดให้คนพิการ ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้แก่ การให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย  การให้ความรู้ทางกฎหมาย การจัดธรรมนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความ การจัดหาทนายความ และการให้ความช่วยเหลืออื่นในทางคดีต่างๆ ได้แก่ คดีแพ่ง  คดีอาญา คดีปกครอง คดีแรงงาน และคดีทรัพย์สินทางปัญญา
          โดยภาครัฐจะดูแล ค่าธรรมเนียม และค่าฤชาธรรมเนียม ค่าวิชาชีพทนายความ เงินประกันในการปล่อยตัว ชั่วคราว ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าเดินทางของทนาย ค่าถ่ายเอกสารประกอบสำนวนคดี ค่าธรรมเนียมการโอนหรือค่าใช้จ่ายอื่น ค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจอนุมัติพิจารณา
          6. สำหรับในเรื่องของการที่มีกฎหมายกำหนดให้อาคารสถานที่ บริการสาธารณะต่างๆ คนพิการต้องเข้าถึงซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกของการเข้าใช้สถานที่ และบริการนั้น ตามประกาศกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นที่ทราบกันดีว่า  อาจจะยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นอีกสิทธิ์พื้นฐานที่ถ้าหากคนพิการ พบว่า ไม่สามารถเข้าถึงได้ก็สามารถร้องเรียนได้
          7. สำหรับการเดินทางคมนาคม นอกจากบริการด้านการคมนาคมพื้นฐาน เช่น รถไฟ รถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน คนพิการจะไม่ต้องเสียค่า ใช้จ่ายแล้ว กรณีการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศของการบินไทย จะได้รับส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จะได้รับบริการพิเศษ การสำรองที่นั่ง การอำนวยความสะดวกผ่านช่องทางพิเศษ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
          8. ทางด้านการศึกษาสำหรับ คนพิการ ตาม พรบ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 2551 คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี (ตลอดชีวิต) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ในระดับพื้นฐาน มีระบบการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการตามโรงเรียน และยังสามารถร้องขอให้มีการจัดการศึกษาพิเศษที่บ้านของคนพิการได้
          สำหรับระดับอุดมศึกษานั้น จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ เช่น ภาควิชา หรือคณะที่ศึกษาต้องสอดคล้องกับลักษณะหรือรูปแบบของความพิการ สามารถสอบถามรายละเอียดก่อนการ เข้าศึกษาทุกมหาวิทยาลัยของรัฐ  ทั้งนี้ตามสภาพความเป็นจริงอาจจะต้องขึ้นกับหลักเกณฑ์พื้นฐานของการรับเข้าศึกษาต่อด้วย อีกทั้งในแต่ละคณะที่ศึกษาอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของแต่ละสถานศึกษา(กรณีสถานศึกษาเอกชน คนพิการอาจต้องออกค่าใช้จ่ายเองก่อนแล้วทำเรื่องเบิกเงินคืนตามหลัง) ข่าวดีในส่วนนี้อาจมีการยกระดับ สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ ขึ้นเป็นระดับกรม ในอนาคตตามแผนการจัดการศึกษาสำหรับ คนพิการ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564
          9. จากนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงเทคโนโลยี จึงประกาศ กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ใน การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและการสื่อสาร  สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสาร สำหรับคนพิการ 2554 ทำให้คนพิการสามารถจะยืมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถ และศักยภาพที่จะเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข่าวสาร และการสื่อสาร เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องช่วยฟัง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ (เครื่องมือหรืออุปกรณ์) ได้ โดยติดต่อที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับต่างจังหวัดให้เขียนคำร้องที่สำนักงานสถิติจังหวัด หรือติดต่อผ่านสมาคมคนพิการที่ คนพิการสังกัดอยู่
          สังเกตได้ว่าสำหรับบทความตอนนี้ ในทางปฏิบัติสำหรับคนพิการอาจจะ ค่อนข้างยากสักหน่อย เช่น คนพิการอยากศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี  ซึ่งสวัสดิการรัฐไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่ม เดินทางออกจากบ้าน พบว่า จาก หน้าบ้านถึงป้ายรถเมล์ จากป้ายรถเมล์ไปขึ้นรถไฟฟ้า เส้นทางคมนาคมกว่าจะถึงบริการขนส่งสาธารณะอาจไม่เอื้ออำนวยเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศไทยยังไม่เชื่อมต่อถึงกันได้ในทางปฏิบัติ ยกเว้นว่าคนพิการจะใช้บริการพิเศษ เช่น รถแท็กซี่ หรือ บริการเดินรถแท็กซี่สำหรับคนพิการและ ผู้สูงอายุ
          10. ทางกรุงเทพมหานคร ได้จัด ให้มีการเดินรถแท็กซี่สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ บริหารจัดการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (หน่วยงานวิสาหกิจกรุงเทพมหานคร) ให้บริการกลุ่มเป้าหมายหลักไปโรงพยาบาล  ไปติดต่อสถานที่ราชการ และไปทำธุระส่วนตัวที่มุ่งหน้าไปใช้บริการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ติดต่อสอบถาม 0 2294 6524 ทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. และรถให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. พื้นที่ให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล / ดูภาพประกอบที่ลิงก์ http://www.thanakom.co.th/thanakom/taxi.html
          แม้ว่าตลอดการไปเรียนของ คนพิการนั้น จะได้รับอุปกรณ์สำหรับการศึกษา ที่สอดคล้องกับความพิการที่เป็นจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้วก็ตาม แต่อุปสรรคสำคัญคือ เจตคติของคนในสังคมต่างหากที่เป็นกำแพงหนาทึบ สูงชันสำหรับคนพิการอยู่  ผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์จริงของคนพิการที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแห่งหนึ่งในภาคอีสาน น้องคนพิการไม่สามารถเรียนต่อขึ้นปีที่ 3 ได้ เนื่องจากวิชาเรียนในชั้นปี 3 อยู่ชั้นที่ 2 ขึ้นไปถึงชั้น 4 ของอาคารเรียน ซึ่งไม่มีลิฟต์ คำตอบที่ได้จากมหาวิทยาลัย คือ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้ เมื่อผู้เรียนเป็นเพียงคนพิการเพียง 1 คน เปรียบเทียบกับนักศึกษาทั้งหมดในชั้นเรียน ในที่สุดน้องคนพิการรายนี้จึงต้องหยุดเรียนเพียงปี 2 และออกมาหางานทำ
          ผู้เขียนรู้สึกพอใจกับกฎหมาย พระราชบัญญัติ ระเบียบ และประกาศ  คำสั่งต่างๆ จากทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ถูกบังคับใช้สำหรับคนพิการ จากคำกล่าวของอาจารย์มณเฑียร บุญตัน ว่า
          "กฎหมายสำหรับคนพิการในประเทศไทยเปรียบดั่งต้นไม้ที่มีผลสุกงอมแล้ว แต่ผลไม้เหล่านั้นกลับร่วงลงพื้นดิน คนพิการไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์ของกฎหมาย คนพิการจึงไม่ได้กินผลไม้ที่สุกงอมเหล่านั้น"
          ผู้เขียนเรียบเรียงเท่าที่พอจำได้ เพราะเคยได้ฟังท่านกล่าวในงานหนึ่ง ที่สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ทำให้ตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้คนพิการรู้กฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งจะส่งผลถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆ สำหรับคนพิการที่มีมากมาย ตามไปด้วย
          อย่างไรก็ตาม สิทธิคนพิการ กว่า จะได้ ต้องศึกษาเรียนรู้ ต้องเดินทางไปเขียนคำร้อง ต้องใช้ความอดทนพยายาม ต้องใช้ทรัพย์สินส่วนตัว ผู้เขียนขอ อย่างเดียวนะครับ เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ของหน่วยงานราชการต่างๆ เมื่อคนพิการไปติดต่อขอใช้บริการจากท่าน ขอให้นึกว่าเป็นญาติของท่าน อย่าทำอย่างที่ผู้เขียนเคยเห็นมากับตา ท่านเจ้าหน้าที่รัฐไล่คนพิการกลับบ้านไปเอาสำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งๆ ที่ไปติดต่อถึงศาลากลางจังหวัดแล้ว ถ้าท่านอยากได้สำเนาทะเบียนบ้านจริงๆ ท่านไปคัดแทนหรือให้คนพิการไป คัดสำเนาก็ได้ กว่าเขาจะมาหาท่าน ลำบากแสนเข็ญ
          อย่าให้คนพิการต้องบ่นในใจว่า "อย่าพิการบ้างก็แล้วกัน" นะครับท่านข้าราชการ--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ