มุ่งปฏิรูปสถานศึกษามีอิสระ'เชื่อสร้างนร.มีคุณภาพ'
Source - ไทยโพสต์ (Th)

Wednesday, June 27, 2018  02:46

          ศึกษาธิการ * บอร์ดอิสระฯ มุ่งสร้างสถานศึกษาอิสระ บริหารจัดการตัวเอง "หมอเฉลิมชัย" เผย ไม่จำเป็นต้องบริหารเองทั้ง 4 ด้าน เหมือน รร.นิติบุคคล ชี้ไม่ต้องออก กม.ใหม่ กม.ที่มีอยู่เพียงพอสำหรับการดำเนินการ เตรียมเสนอแผนให้รัฐบาลพิจารณา เชื่อเป็นหนทางสร้างเด็กมีคุณภาพ ได้ผู้นำและครูดีเข้าสู่ระบบ
          นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ  (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ที่ได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงจากเด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ ไปแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ โดยในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  ซึ่งจะมีประเด็นจาก นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ได้นำเสนอการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสถานศึกษานิติบุคคล ดังนั้น เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาหากจะทำให้เกิดคุณภาพ สถานศึกษาต้องมีอิสระในการบริหารจัดการ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้เราจะนำ เสรีภาพไปไว้ที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นปัจจัยหลักของการศึกษาทั้งหมด
          ประธานอนุกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในภาพรวม ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาทั้งระบบ จะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ การปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการให้สถานศึกษามีความอิสระในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง ซึ่งการปฏิรูปสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระ จะแตกต่างจากการเป็นโรงเรียนนิติบุคคล เพราะการเป็น โรงเรียนนิติบุคคลจะต้องมีความหมายตามกฎหมายให้ครอบคลุมงาน 4 ด้าน คือ งานวิชาการ งานบริหารบุคคล งานงบประมาณ และการบริหารงานทั่วไป แต่การดำเนินการให้สถานศึกษาเป็นอิสระไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน เช่น โรงเรียนบางแห่งอาจจะดำเนินการเป็นรายด้านหรือทุกด้านก็ได้ เป็นต้น ซึ่งจากนี้คณะกรรมการอิสระฯ จะจัดทำแผนเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นอิสระของสถานศึกษา จะเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างไร และยังต้องมีแผนการบริหารจัดการให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระด้วย ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำ
          นพ.เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การให้อิสระกับสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม เพราะจากการศึกษา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รวมทั้ง พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดินกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 พบว่ามีการกำหนดสาระสำคัญ ในการให้อิสระกับสถานศึกษาไว้เพียงพอแล้ว และได้ประกาศเป็นกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงหลายฉบับ ถ้าได้ดำเนินการตามกฎระเบียบดังกล่าวครบถ้วน สถานศึกษาจะมีความเป็นอิสระ แต่ที่ผ่านมาขาดผู้รับผิดชอบโดยตรงว่า จะต้องขับเคลื่อนให้สถานศึกษาเป็นอิสระจำนวนเท่าใด และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต้องดีขึ้นอย่างไร ซึ่งความเป็นอิสระของสถานศึกษาจะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูดีๆ เข้าสู่ระบบและทำงาน ซึ่งคณะกรรมการอิสระฯ จะเสนอข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลอย่างเป็นทางการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
          "เราจะมุ่งเป้าหมายความเป็น อิสระของสถานศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งจะต้องมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย คือ ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน และจิตวิญญาณของครู ที่จะช่วยให้คุณภาพ การศึกษาไปสู่ความสำเร็จ ขณะเดียวกันเราคงไม่ดำเนินการให้โรงเรียนทั้ง หมด 30,000 แห่งเป็นโรงเรียนอิสระ แต่จะดูตามความจำเป็นและเสียงตอบรับจากชุมชน และความพร้อมของสถานศึกษา" ประธานคณะอนุฯ ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษากล่าว
          เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่หลาย ฝ่ายมองว่า ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่ ไม่ได้บรรจุเรื่องการปรับโครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษาไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แต่เป็นการโยนภาระให้รัฐบาลชุดใหม่นั้น นพ.เฉลิมชัยกล่าวว่า  คงไม่ถึงขนาดนั้น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้จะแตกต่างกับ  พ.ร.บ.การศึกษาฯ เดิมที่มีการกำหนดโครงสร้างของหน่วยงานทางการศึกษาไว้ แต่ในร่างใหม่จะกำหนดเฉพาะโครงสร้างหลักที่จำเป็นต้องมี ส่วนโครงสร้างอื่นที่จะต้องปรับจะไปออกเป็นกฎหมายลูก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะหากกำหนดในร่าง พ.ร.บ.จะแก้ไขได้ยาก ซึ่งหลังรับฟังความคิดเห็นแล้วคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้กับคณะรัฐมนตรีต่อไป.--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์