ชัดแล้ว สกศ.ปรับเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
Source - เว็บไซต์เดลินิวส์ (Th)

Tuesday, July 03, 2018  15:43
18295 XTHAI XEDU EDU V%NETNEWS P%WDN

          บอร์ดอิสระ ชัดแล้ว สกศ.เป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที ยกร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ แต่อยู่ในศธ.
          วันนี้(3 ก.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มี พ.ร.บ.ฉบับใหม่เกิดขึ้น และในวันที่5-6ก.ค.นี้ จะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย และจะนำมาให้ที่ประชุม กอปศ.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน นำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 10 ก.ค.เพื่อพิจารณาต่อไป
          นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า มีผู้สนใจดาวน์โหลดร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติกว่า3,000คน ผู้ให้ความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ประมาณ100ราย และมี 50 ประเด็น ซึ่ง กอปศ.จะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อทบทวนร่างดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งจะนำไปปรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนที่เป็นรายละเอียดจะนำไปกำหนดไว้ในกฎหมายรอง อาทิ กฎกระทรวง หรือจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาหรือข้อเสนอต่างๆ ที่จะเสนอ ครม.ต่อไป นอกจากนี้จะเพิ่มบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน จากระบบปัจจุบันสู่แนวทางที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือกฎหมายรับรองมารองรับ เช่น บทบาทหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่จะปรับเปลี่ยนไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ แต่คงอยู่ในสังกัด ศธ. เพราะการนำทุกเรื่องไปไว้กับสำนักงานนายกรัฐมนตรี สุดท้ายอาจจะมีปัญหาเรื่องการบูรณาการการทำงาน ส่วนองค์กรหลักอื่นจะไม่มีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
          ด้านดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เบื้องต้นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่จะเป็นผู้ยกร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560ที่สอดคล้องกับแผนแผนการปฏิรูปประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง กอปศ.ต้องการให้เป็นแผนที่เห็นผลในเชิงปฏิบัติไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษเท่านั้น และต้องมีเครื่องมือที่จะสร้างความมั่นใจว่าแผนจะเกิดผล อาทิ เป็นผู้ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นต่อสำนักงบประมาณก่อนเสนอ ครม. และดูแลบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงบฯจำนวนมาก อาทิ อัตรากำลังคนหรือวิทยฐานะ แต่อยู่ระหว่างการออกแบบยังไม่ได้ข้อสรุป.

          ที่มา: www.dailynews.co.th