อย.เข้มตรวจผักสดและผักไฮโดรโปนิกส์ในห้างค้าปลีก
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Monday, July 16, 2018  13:07
63135 XTHAI XETHIC XGOV SOC V%WIREL P%PRD

          จากกรณีเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ได้ตรวจสอบผักไฮโดรโปนิกส์ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่า 60% ของตัวอย่างที่มีการสุ่ม โดย อย.ได้ทำการตรวจสอบผักผลไม้ไฮโดรโปรนิกส์ตามสถานที่ผลิตและจำหน่าย พบว่าล่าสุดเดือนมิถุนายน 2561 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างผ่านมาตรฐานร้อยละ 86.50 และไม่ตกเกณฑ์ ร้อยละ 13.50 ของการสุ่มทั้งหมด 1,360 ตัวอย่างนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แจงถึงสถานการณ์การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี  พร้อมยกระดับมาตรการจัดการปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดปริมาณสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตรตกค้างในอาหาร และกำหนดให้สถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สดรับวัตถุดิบผักและผลไม้สดมีมาตรฐานการผลิตที่ดี และมีระบบการทวนสอบย้อนกลับให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้  ยังร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สำรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้สด ทั้งสถานที่ผลิตและจำหน่าย ซึ่งครอบคลุมทั้งการปลูกแบบใช้ดินและปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ จำนวน 1,360 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางห้องปฏิบัติการ 132 ชนิด ผลการวิเคราะห์พบผ่านมาตรฐานร้อยละ 86.50  และตกมาตรฐาน ร้อยละ 13.50 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2561 พร้อมกันนี้ ยังสำรวจและพัฒนาสถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สด พบว่ามีสถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สดที่เป็นไปตามประกาศดังกล่าวทั้งหมด จำนวน 101 แห่ง หากพบการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผักที่มีปริมาณสารพิษตกค้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด อย.จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจะถูกเรียกคืนสินค้าและดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งเข้าสู่ระบบกักกันในการนำเข้าครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ อย. ได้ย้ำให้ประชาชนทำความสะอาดผักผลไม้ทุกชนิดก่อนนำไปรับประทานเพื่อป้องกันปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเบื้องต้น โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ล้างด้วยน้ำไหล,ใช้ผงฟูหรือเบคกิ้งโซดา, น้ำส้มสายชู หรือการลวกผัก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไนเตรทในผักได้

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th