สนช.เตือนงด'ไพรมารีโหวต'เสี่ยงขัดรธน.-ปฏิรูปการเมือง
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, July 23, 2018  05:27
41660 XTHAI XPOL DAS V%PAPERL P%KT

          กรุงเทพธุรกิจ "สนช." ติงงดเว้นไพรมารี โหวตเลือกตั้งครั้งหน้า เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญแผนปฏิรูปการเมือง ชี้ขยับทำไพรมารีโหวตจากรายเขต เป็นรายจังหวัดผ่อนคลายเงื่อนไข ด้าน"สุริยะใส" แนะนักการเมืองเก่า-ใหม่ สรุปบทเรียนในอดีต
          ความคืบหน้าการแก้ไขประเด็น เกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจใช้มาตรา 44 ยกเว้นการใช้ระบบ ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งสมัยหน้าว่า ส่วนตัวมองว่าหากไม่มีการทำไพรมารีโหวตก็จะเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญและขัดต่อเจตนาของ คสช.ที่ต้องการปฏิรูปการเมือง
          ทั้งนี้ ข้อกังวลของพรรคการเมืองที่ว่าหากมีการทำไพรมารีโหวต จะมีเวลาหา สมาชิกพรรคไม่ทัน ขณะนี้มีการผ่อนคลายเงื่อนไขโดยให้พรรคการเมืองที่สามารถหา สมาชิกพรรคในจังหวัดได้ครบ 100 คน มีสิทธิ ส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขตในจังหวัดนั้นๆ หากพรรคใดไม่สามารถหาสมาชิกในจังหวัดได้ครบ 100 คน ก็ไม่ควรได้ส่งผู้สมัครทั้งจังหวัด ส่วนที่มีการระบุว่าให้หาวิธีรูปแบบอื่นมาใช้แทนระบบไพรมารีโหวตไปก่อนชั่วคราวนั้น รูปแบบที่มาแทนจะต้องดีกว่า ส่วนตัวไม่รู้ว่าจะมีวิธีใดที่ดีกว่ามาใช้แทนได้ ถ้าใช้ไพรมารีโหวตรายภาคแทนก็จะกลับไปเหมือนเดิม ดูไกลเกินไปที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัคร ในที่สุดทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมคือ อำนาจการคัดเลือกผู้สมัครจะกลับไปอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค และนายทุนเหมือนเดิม
          "การขยับจากการทำไพรมารีโหวตรายเขตมาเป็นรายจังหวัด ถือว่าผ่อนคลายเพียงพอแล้ว ไม่ควรทำไพรมารีโหวตระดับภาค ถ้าไม่มีการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งสมัยหน้าจริงๆ ทาง คสช.ก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่าจะไม่มีการปฏิรูปการเมืองแล้วใช่หรือไม่" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
          ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิตและ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึง บรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งในขณะนี้ว่า  แม้จะยังไม่ชัดเจนถึงกรอบเวลาที่แน่นอนและช่วงเวลาของการปลดล็อคที่ยังยากจะคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงใดก็ตาม แต่ในด้านหนึ่งนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีของบรรดากลุ่มก้อนทางการเมือง ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่จะได้ใช้โอกาสนี้ในการสรุปบทเรียนทางการเมือง
          รวมทั้งการตั้งโจทย์ใหม่ที่จะช่วยกันคลี่คลายปัญหาบ้านเมืองให้ออกจากความขัดแย้ง การทุจริตคอร์รัปชัน และการเมืองที่ล้มเหลวได้ เพราะนักการเมืองถือเป็นกลุ่มคนที่มีประสาทสัมผัสทางการเมืองไวและเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ ย่อมอ่านสถานการณ์สังคมการเมืองในขณะนี้ได้ดีที่สุด ว่าในขณะนี้มีปัจจัยอะไรบ้างที่เปลี่ยนไปและควรคำนึงถึง การใช้ประสบการณ์แท็กติก และยุทธวิธีแบบเดิมนั้น อาจจะทำให้การเมืองเผชิญกับวิกฤติปัญหาที่สลับซับซ้อน หรือมีความรุนแรงมากขึ้นอีก
          บทเรียนที่สำคัญประการหนึ่งคือพรรคการเมืองมักคิดเตรียมการเลือกตั้ง เพื่อให้ชนะเลือกตั้ง และร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อ ปันผลประโยชน์กันเท่านั้นจนทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายและไม่ไว้วางใจนักการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะของพรรคการเมือง หมดเวลาแล้วที่นักการเมืองจะคิดฝ่ายเดียว เชื่อเอง เออเอง ทำเอง หรือเป็นผู้รับเหมาทำแทนประชาชนไปเสียทั้งหมด--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ