บทความ : มาตราการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)

Monday, June 25, 2018  11:29
42042 XTHAI XCLUSIVE XGOV REPO V%WIREL P%PRD

          แม้สังคมจะได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่น้อยคนนัก ที่จะนึกถึงช่วงเวลาที่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานนั้นเสื่อมสภาพ หมดอายุการใช้งาน หรือไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานอีกต่อไป ผู้บริโภคจะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องได้อย่างไร นั่นเป็นที่มาของปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์
          ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเวส (e-waste) เป็นประเด็นวิตกกังวล เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นในอุปกรณ์เหล่านั้นถือว่าเป็นพิษ ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ โดยเฉพาะหากจัดการไม่ดี   พิษเหล่านี้มักจะเป็นโลหะหนัก ชนิดที่มีมากได้แก่ ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม นอกจากนี้ยังมีสารหนู กำมะถันและสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งจอมอนิเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป ก็มีตะกั่วอยู่ถึง 6 เปอร์เซ็นโดยน้ำหนัก ส่วนมากจะอยู่ในแก้วของจอภาพ CRT กล่าวโดยสรุปว่า มีธาตุต่าง ๆ ในขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 38 ชนิดด้วยกัน
          แนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหนาอยู่แล้ว ย่อมรู้มาตรการและขั้นตอนการกำจัดขยะเหล่านี้   เป็นอย่างดี แต่เมื่อรัฐบาลบางประเทศไม่มีมาตรการป้องกัน หรือระเบียบที่รัดกุม ผู้ผลิตก็อาจละเลยเพราะมีขั้นตอนเพิ่มสำหรับการกำจัดขยะ ย่อมเป็นการเพิ่มต้นทุนไม่มากก็น้อย
          ในส่วนของผู้ใช้ หากมีสถานทีรองรับขยะที่ชัดเจน ก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีตัวอย่างที่เลวร้าย เป็นกรณีศึกษาและเป็นภาพเตือนใจที่ดี ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น
          จากแถลงผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินคณะที่ 5 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ได้พิจารณาในมาตรการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก โดยมีมาตรการเร่งด่วน คือ
          -ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอนุสัญญา บาเซิล
          -ผลักดันให้นำกลับขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในกรณีที่พบการสำแดงเท็จพร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
          -หากนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกแล้วนำส่งไปโรงงานจำกัดที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง พร้อมดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย
          ทั้งนี้ รัฐบาลจะเพิ่มความเข้มงวด เช่น การพิจารณาใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกกำหนดให้มีเงินประกันกรณีเกิดความเสียหายจากการสำแดงเท็จหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง กรมศุลกากรต้องเข้มงวดในการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่สำแดงว่าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก และเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิด และยังต้องมีระบบกำกับการขนส่งจากเรือไปโรงงานด้วย
          เรียบเรียงโดย   สายพิณ  เจริญรัศมี

          ที่มา: www.thainews.prd.go.th