คอลัมน์: บนความเคลื่อนไหว: เดินหน้า'รีเซ็ต' ( ว่าที่ )ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Thursday, August 09, 2018  05:36
31738 XTHAI XPOL DAS V%PAPERL P%KT

          ขนิษฐา เทพจร
          หลังความเคลื่อนไหว ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดย"มหรรณพ เดชวิทักษ์"สนช. พร้อมสมาชิกผู้สนับสนุน รวม 36 คน เดินเรื่อง เพื่อเตรียมขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ต่อ ที่ประชุมสภา สนช. ประเด็น การคัดเลือก บุคคลให้เข้าทำหน้าที่ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ที่ตาม พ.ร.ป.กกต. เดิม มอบอำนาจคัดเลือกและแต่งตั้ง ให้กับ "คณะกรรมการ การเลือกตั้ง" ตามระเบียบที กกต. กำหนด ไปเป็นมอบอำนาจคัดสรรให้กับ คณะกรรมการคัดเลือก ที่มี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน  กลายเป็น คำถามใหญ่ถึงเจตนา ที่แฝงนัยยทางการเมืองทันที ว่า "ต้องการอะไร?"
          เพราะ กกต.ชุดปัจจุบัน ฐานะผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เริ่มกระบวนการ คัดเลือกไปแล้วเสร็จ77 จังหวัด และอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติ ประวัติ และพฤติกรรม  อีกทั้งความต้องการแก้ไขที่ว่า ยังเขียนเนื้อหา คล้ายกับ ระเบียบกกต. ว่าด้วยการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ.2561 อีก
          แม้จะมีข้อทักท้วง มากจาก"มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ." ว่าเป็นเรื่อง ที่ สนช. ไม่ควรเกี่ยวข้อง แต่ล่าสุด "มหรรณพ" ยืนยันว่า เมื่อเริ่มเดินเรื่องแล้ว ต้องไปให้สุด และหลังจากที่ปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านทาง เว็บไซต์ วันที่18 ส.ค.นี้ จะรวบรวมและเสนอให้ "พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช." เพื่อดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายในสภา และเรื่องนี้ หากทำสำเร็จ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เท่ากับว่า ว่าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ กกต.ประกาศไป ต้องถูกรีเซ็ตใหม่ทั้งหมด เพราะคณะกรรมการคัดเลือกนั้นถูกปรับเปลี่ยน
          เรื่องนี้ ที่ "ตัวแทน สนช." ยืนยันเดินหน้าไม่ทราบแน่ชัดว่า เกี่ยวกับ สัญญาณไฟเขียวที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (สนช.)" ส่งออกมาหรือไม่ หลังระบุว่าการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ควรถามและรอ "ว่าที่ กกต.ชุดใหม่" มาทำ
          ขณะที่ประเด็นทาง การเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ล่าสุด "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ เปิดเผยว่า ใกล้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดระบบเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารี่โหวต แล้ว โดยวางหัวใจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเลือก ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ระบบ ไพรมารี่โหวตแบบภาค มาแทน ระบบจังหวัด  โดยนัยของเรื่องทั้งหมด ทั้ง เจตนาหรือไม่ ต่อการกำกับการทำงานของ "องค์กรอิสระ" หรือ การกำหนดรูปแบบไพรมารี่โหวต เป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องหา ช่องทางที่เหมาะสมกับ ผู้ที่ประกาศว่าจะเป็นคู่แข่งและชิงอำนาจทางการเมืองทั้งสิ้น--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ