'ผู้ตรวจการเลือกตั้ง' จุดตั้งต้น'สุจริต-เที่ยงธรรม'
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Thursday, August 09, 2018  05:35
22493 XTHAI XPOL DAS V%PAPERL P%KT

          ขนิษฐา เทพจร
          กรุงเทพธุรกิจ
          "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" คือ อะไร?หลายคนคงสงสัยบทบาท และหน้าที่ หลังจากที่มี ความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในกลุ่มของ"มหรรณพ เดชวิทักษ์" สนช. เตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วน ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง
          โดยตามเจตนารมณ์ของ "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)" ที่กำหนดให้มี "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" นั้น "ภัทระ คำพิทักษ์"กรธ. ฐานะอดีตกรรมาธิการ (กมธ) พิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ในชั้น สนช. ระบุถึงความหมายไว้ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ กลไก และมือไม้ ของ กกต. ทำหน้าที่ตรวจสอบ คอยสอดส่องความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆเพื่อกำกับให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด
          "เหตุที่ต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะยกเลิก กกต. ประจำจังหวัด ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน ตามงานวิจัยและศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า โดยหน้าที่สำคัญของผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และ ตรวจสอบ ฝ่ายการเมือง ว่าทำผิดกติกาเลือกตั้งหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมใดที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ และรายงานความผิดปกติไปยัง กกต. ให้รับทราบ แต่ไม่มีสิทธิให้ใบเหลือง ใบแดง หรือลงโทษบุคคลที่กระทำผิด"
          สำหรับ หน้าที่และการปฏิบัติงานของ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตามที่เขียนไว้ ใน พ.ร.ป.กกต. และ ระเบียบของกกต. ถูกวางไว้บนหลักการ ที่ว่า "ทำให้การเลือกตั้งสุจริต และเที่ยงธรรม" จึงถูกวางบทบาทไว้ใน 4 ภารกิจ คือ
          1.ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง, เจ้าหน้าที่ของรัฐ, กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ถ้าไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง มีอำนาจรายงานให้กกต. ทราบโดยเร็ว
          2.ตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหรือ การกระทำที่จะเป็นเหตุให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริต หรือ เที่ยงธรรม หรือ เป็นไปโดยไม่ชอบตามกฎหมาย
          3.เข้าไปในที่เลือกตั้งหรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง
          และ 4.ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของ กกต.และตามที่ ได้รับมอบหมาย
          จากหน้าที่และการปฏิบัติงานที่ว่า เป็นการถอดแบบจากบทบาทของ "กกต.ประจำจังหวัด" แต่ที่แตกต่างกันคือ กฎหมายกำหนดให้ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีอายุการทำงาน นับตั้งแต่ ก่อนพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งบังคับใช้30วัน และพ้นการปฏิบัติหน้าที่ทันที หลังการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ที่สามารถประกาศได้ ไม่น้อยกว่า 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด หรือวันประกาศผลการเลือก ส.ว. เท่านั้น
          อีกทั้งจุดแตกต่าง คือ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในจังหวัด ต้องประกอบด้วย บุคคลที่มีภูมิลำเนาในจังหวัด2คน กับ ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่เหลือเมื่อคิดตามสัดส่วนของเขตจังหวัด
          ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ "กรธ." ที่ต้องการตัดปัญหาการเกี่ยวโยงกับฝ่ายการเมือง ข้าราชการในพื้นที่
          เมื่อพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ ที่ว่า แม้ "ผู้ตรวจการเลือกตั้ง" ไม่มีอำนาจลงโทษ ผู้ที่ทำผิดกฎ แต่หน้าที่นั้นถือว่าเป็น กระบวนการที่สำคัญ และจะช่วยให้การ เลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ หาก เขาทำหน้าที่ได้ดี อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เชื่อในเบื้องต้นได้ว่า การเลือกตั้งจะสุจริตและเที่ยงธรรม
          เมื่อพลิกดูที่มาของกระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง ของ กกต.ชุดปัจจุบัน ตามสาระที่เขียนไว้ในระเบียบ กกต. ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ประกาศเมื่อ26 เม.ย. 2561 พบว่ากระบวนการไม่ได้มาจาก "กกต." โดยตรง แต่มีขั้นตอนที่ผ่านตัวแทนคือ คณะกรรมการคัดเลือกประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร  ล่าสุดขั้นตอนเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่แล้วเสร็จ และถือว่ายังไม่มีผลแต่งตั้งตามกฎหมาย เพราะอยู่ระหว่างนำรายชื่อ บุคคลที่รับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งจำนวน 616 คน ประจำ 77 จังหวัดๆ ละ 8 คนประกาศไปยังจังหวัด เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบ
          ก่อนจะเข้าขั้นตอนขึ้นบัญชีผู้ตรวจการเลือกตั้ง และแต่งตั้งอย่างเป็นทางการช่วงก่อนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้ ไม่ช้ากว่า15 วัน แต่ไม่เร็วกว่า 30 วัน
          โดยขณะนี้ขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง ยังไม่มีวี่แววจะคลอด เพราะต้องรอความชัดเจนของการประกาศใช้ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มา ซึ่ง ส.ว. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อน จึงทำให้มีเวลาที่ กกต. จะคัดสรร คนเข้ามาเป็นมือเป็นไม้ในพื้นที่
          แต่กระบวนการที่ กกต.เริ่มต้น เพื่อเตรียม ความพร้อมไว้ก่อนนั้น มีวี่แววจะถูกรีเซ็ต หากการเดินเกมของ "สนช.บางกลุ่ม" เป็นผล จึงต้องติดตามว่า การเดินหน้าที่ว่านั้น จะมีผลเป็นจริงขนาดไหน และหาก ร่างแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. สามารถผ่านชั้นสนช. ไปได้
          ตามความท้ายร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ที่ระบุให้ ให้ "เซ็ตซีโร่" กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ ทำมาก่อน กฎหมายฉบับแก้ไขจะประกาศ ใช้จะถูกนำมาใช้บังคับ และส่อว่าเป็น ขั้นตอนประวิงเวลาการเลือกตั้ง หรือเตรียมพร้อมการเลือกตั้งได้ เพราะกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีที่โยงความ จุดสัมพันธ์กัน--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ