ประชาชนได้อะไร จากกฎหมายการชำระเงินฉบับใหม่
Source - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ (Th)

Saturday, August 11, 2018  09:35

          โดย...วารุณี อินวันนา
          -->ข่าวตำรวจออกหมายจับผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงินสกุลดิจิทัล และเกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการเปิดเผยเส้นทางจากจ่ายเงินสกุลบิตคอยน์ ของชาวต่างชาติ เข้าบัญชี อี-วอลเล็ต และแปลงเป็น เงินบาท โอนเข้าบัญชีกลุ่มผู้ต้องหา
          การที่ตำรวจ เห็นธุรกรรมทางการเงิน ทั้งเงินสกุลดิจิทัล กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-วอลเล็ต และเงินบาทได้ เพราะเงินเหล่านี้มีการโอนผ่านระบบการชำระเงิน
          วันนี้ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติระบบการชำระเงินฉบับใหม่ ขึ้นอยู่กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง จากเดิมที่อยู่ภายใต้การดูแลของหลายหน่วยงาน บังคับใช้เมื่อ วันที่ 14 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เป็นฉบับบูรณาการ ที่มีการรองรับบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญเน้นการดูแลผู้ใช้บริการ ทั้งที่เป็นประชาชน นักธุรกิจที่ทำธุรกรรม่ทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้มีความปลอดภัย มีความเป็นธรรมมากขึ้น และไม่สะดุด
          "ระบบการชำระเงิน เป็นเหมือนถนนเส้นใหญ่ ที่ให้รถทุกคันวิ่งได้สะดวก จึงต้องกำกับดูแลให้ระบบตัวกลางต้องมีความมั่นคงปลอดภัย มีเสถียรภาพ สามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก เพราะถ้าหยุดชะงัก จะกระทบทุกคนไม่สามารถโอนเงินได้ นอกจากนี้ ในการกำกับดูแล จะเน้นตามลักษณะความเสี่ยงในการให้บริการของประชาชนแต่ละกลุ่ม เพราะแต่ละกลุ่มจะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน" พงศ์ธวัธ โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ การกำกับดูแลธุรกรรม Digital Money ของสถาบันการเงิน
          พงศ์ธวัธ กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้จะดูแลระบบการชำระเงินครบวงจร และแบ่งกลุ่มผู้ให้บริการออกมาชัดเจนตามหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
          กลุ่มบริการการชำระเงิน ซึ่งมีคน 2 ประเภทที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ใช้บริการ ได้แก่ ประชาชน ภาคธุรกิจ กับผู้ให้บริการ มีผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ประเภท คือ ผู้ให้บริการโอนเงิน ผู้ให้บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม
          รวมถึงดูแล ผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในกฎหมายเดิมไม่มีรวมกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การกำกับ เพราะเป็นบริการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น บัตรแรบบิท และผู้ให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทน ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ เช่น ผู้ให้บริการวางเครื่องรูดบัตร รวมถึงการให้บริการการชำระเงินอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการชำระเงิน หรือประโยชน์สาธารณะ ก็จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายฉบับใหม่
          ความเสี่ยงของประชาชนในการใช้บริการจากผู้ให้บริการการโอนเงิน อยู่ที่เงินไม่ถูกโอนไปยังผู้รับปลายทาง หรือ ระบบล่มเงินไม่ถึงปลายทาง หรือนำเงินลูกค้าไปใช้ทางอื่น หรือโอนให้ช้า
          ขณะที่ความเสี่ยงการใช้บริการจากผู้ให้บริการรับชำระเงิน ถ้าไม่โอนเงินให้ร้านค้า หรือธนาคาร ประชาชนก็จะเสียสิทธิไป หรือมีปัญหาอย่างอื่นตามมา อาจถูกคิดอัตราดอกเบี้ย มีค่าทวงหนี้
          กลุ่มระบบที่เป็นศูนย์กลางการ ชำระเงิน ได้แก่ ระบบการชำระเงินระหว่างธนาคาร ธนาคารเป็นผู้ให้บริการ ได้แก่ ระบบโอนเงินรายย่อย ระบบ เครือข่ายบัตร ระบบการชำระดุล
          กลุ่มระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ ได้แก่ ระบบบาทเน็ต และระบบไอแคส ที่เป็นการเคลียริ่งเช็ค โดย ธปท.เป็นผู้ให้บริการ
          ทั้งนี้ ธปท.จะเน้นการกำกับดูแล 5 เรื่อง หลักๆ ประกอบด้วย หนึ่ง ความเสี่ยงและความปลอดภัย ซึ่งคนที่ให้บริการระบบการชำระเงิน คนที่จะทำบริการการชำระเงิน เรื่องระบบต้องบริการได้ต่อเนื่อง บริการมีความปลอดภัย ข้อมูลลูกค้าต้องเก็บรักษาอย่างดี ต้องมีการจัดการความเสี่ยง ที่ดี ซึ่ง ธปท.จะมีการเข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ระบบชำระเงินสำคัญ จะถูกตรวจสอบค่อนข้างบ่อย
          สอง ความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งการที่จะมีระบบปลอดภัย มีเสถียรภาพ ให้บริการต่อเนื่อง ต้องมีเงินเพียงพอที่จะดูแล กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะให้บริการแต่ละประเภทควรต้องมี เงินทุนขั้นต่ำเท่าไหร่ หลังจากให้บริการไปแล้วเกิดมีผลขาดทุน เงินทุนเริ่มน้อยลงกฎหมายก็จะบอกว่าน้อยลงได้ถึงจุดหนึ่ง ก็จำเป็นต้องเข้าไปคุม ทางการเข้าไปดูแลว่าบริษัทมีแผนในอนาคตอย่างไร จะจัดการอย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่าจะให้บริการได้ต่อเนื่อง
          สาม ธรรมาภิบาล เป็นกฎเกณฑ์ที่เน้นมากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสหน้าที่ของผู้บริหาร เพราะระบบนี้เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน กฎหมายจะเน้นให้ผู้บริหารมีหน้าที่ดูแลเรื่องความเสี่ยง
          สี่ การคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น ต้องมีช่องทางให้ร้องเรียนได้ หรือแจ้งทางผู้บริหารได้ เมื่อมีการร้องเรียนมาจะต้องตอบลูกค้าภายในกี่วัน รวมถึงต้องบอกเงื่อนไขบริการให้ชัดเจน ค่าธรรมเนียม เงื่อนไขอะไรที่เป็นผลลบต่อผู้บริการต้องแจ้งล่วงหน้า
          ห้า การส่งเสริมประสิทธิภาพการแข่งขัน เช่น ผู้ให้บริการระบบกลาง ต้องให้บริการที่เป็นธรรมกฎหมายใหม่ส่งเสริมเรื่องของธุรกิจที่นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสะดวกขึ้น
          นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ได้เขียนบทเฉพาะกาลไว้ว่า ผู้ที่ให้บริการระบบการชำระเงิน หรือบริการการชำระเงิน ที่ให้บริการมาก่อนหน้านี้ สามารถให้บริการต่อไปได้ เพียงแต่ต้องมายื่นขอใบอนุญาตตามกฎหมายใหม่ 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ส.ค.นี้

          ที่มา: www.posttoday.com