เสวนาร่างพรบ.ตำรวจ หาทางยุติแพะในคดี
Source - แนวหน้า (Th)

Tuesday, August 14, 2018  06:09

          วงเสวนาพ.ร.บ.ตำรวจฯ ชี้ความอยุติธรรมยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน จับคนดีเป็นแพะรับบาปต้องเร่งหาทางออกเพื่ออนาคต
          เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนาวิชาการหัวข้อ "ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความ อยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?"
          โดย นายบรรเจิด สิงคเนติ นักวิชาการด้านกฎหมายจากนิด้า กล่าว
          ตอนหนึ่งว่า หัวใจกระบวนการยุติธรรมอาญาอยู่ที่กระบวนการสอบสวนที่ต้องกำหนดในกฎหมาย คือ 1.หลักประกันความเป็นอิสระของบุคคลที่อยู่ในกระบวนการ 2.ให้อัยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อ ต้องรู้ข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอนำไปสู่การส่งฟ้องได้หรือไม่ นำไปสู่การกำหนดทิศทางในการสอบสวน
          3.ยังไม่มีการถ่วงดุล หรือการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในกระบวนการสอบสวน 4.กรณีการขาดอายุความนั้น ให้พนักงานสอบสวนและอัยการส่งฟ้องร้องไปก่อนเป็นการผลักภาระให้ประชาชนและกระบวนการของศาล โดยรัฐต้องพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ในเบื้องต้นสะท้อนความรับผิดชอบของรัฐในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง และ 5.ส่วนที่ขาดหายไป ด้วยการให้อัยการเข้ามาในคดีสำคัญเท่านั้น แต่คดีสำคัญมีอะไร โดยควรเพิ่มให้คู่ความที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการสอบสวน ให้ร้องขอให้อัยการร่วมสวบสวนได้
          ด้าน นายปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร ประธานคณะทำงานกระบวนการยุติธรรม ในกรรมการสิทธิสนุษยชน สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมชั้นการสอบสวนยังขาดการแจ้งสิทธิ์ทางกฎหมายต่อผู้ถูกกล่าวหา จนก่อนเกิดการจับแพะในคดีและทำให้นักโทษล้นคุก ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาเรื่องความไม่ครอบคลุมของหลักฐานสำคัญอย่างภาพจากกล้องวงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ที่มีไม่ทั่วถึง และเห็นว่าในระหว่างกระบวนการสอบสวนควรมีการบันทึกการให้ถ้อยคำและการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเกิดความโปร่งใสและความยุติธรรม และอัยการสามารถนำไปพิจารณาในการสั่งฟ้องได้ หากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนขั้นต้นให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายแต่แรกจะทำให้นักโทษในเรือนจำลดลง
          นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการถ่ายโอนภารกิจตำรวจงานด้านจราจรควรทำให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี แทนจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ประสบปัญหาในเมืองใหญ่ อย่าง กรุงเทพมหานครและพัทยา
          ขณะที่ นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลืองทางกฎหมายและ การบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การร่างกฎหมายหัวใจสำคัญ คือ ตอบสนอง รับใช้ประชาชน และให้เกิดความสงบสุข อะไรที่ทำแล้วไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่ว่ามานั้นทำไปก็เสียเวลา กฎหมายไทยเหมือนกฎหมายต่างประเทศหรือไม่ ต่างกันเพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยผิดหลักไปหมด เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนจะถูกกล่าวหาตามใจไม่ได้ และจะต้องมีหลักประกันว่าทุกคนจะเสมอภาค ทุกวันนี้ประเทศเราไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คือ คนชั่วลอยนวล คนดีเป็นแพะ คนจนติดคุก ซึ่งเรื่องนี้ต้องหาทางออกให้ได้

          บรรยายใต้ภาพ 
          เสวนา : นายบรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการด้านกฎหมายจากนิด้า ขณะร่วมเสวนาวิชาการหัวข้อ "ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า