ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางออกคลี่คลายปัญหาประเทศ
Source - แนวหน้า (Th)

Tuesday, August 21, 2018  06:01
35609 XTHAI XEDU DAS V%PAPERL P%NND

          "แพะ", "คุกมีไว้ขังคนจน", "2 มาตรฐาน", "อภิสิทธิ์ชน"..คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่านี่คือ สิ่งที่คนในสังคมไทย "ชินชา" กับมันไปเสียแล้ว เนื่องด้วยเมื่อพูดถึง "กระบวนการยุติธรรม" สิ่งแรกที่ หลายคนนึกถึงคือไม่อยากเข้าไปข้องแวะด้วย เพราะเมื่อตกเป็นผู้เสียหาย หากไม่ใช่ว่ารู้จักคนใหญ่คนโต หรือมีสื่อมวลชนรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) หรือคนเด่นคนดังในสังคม ให้ความช่วยเหลือคดีก็แทบ ไม่คืบหน้า ซ้ำร้ายหากตกเป็นจำเลย การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก็ยิ่งยากเป็นทวีคูณ
          ที่เวทีเสวนา "ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการ บังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี เปิดประเด็นชวนคิดว่า การที่ประชาชนต้องไปพึ่งหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ เมื่อได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรม นั่นหมายถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐล้มเหลวใช่หรือไม่?
          อัยการผู้นี้ กล่าวถึงกระบวนการที่มีปัญหา แต่ต้น นั่นคือ "ปล่อยให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มีอำนาจเข้าถึงพยานหลักฐานเพียงหน่วยงานเดียว"โครงสร้างลักษณะนี้หน่วยงานดังกล่าวสามารถช่วยให้คนทำผิดหลุดรอดไม่ถูกดำเนินคดี อาทิ อ้างว่าไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด ไม่มีหลักฐานอัตลักษณ์บุคคล (DNA หรือลายนิ้วมือ) สร้างพยานที่ไม่น่า เชื่อถือ หรือจะสร้างแพะมารับผิดที่ไม่ได้ก่อ อาทิ แจ้งข้อหาแรงๆ ไว้ก่อน หรือยัดยาเสพติดพร้อมข่มขู่ให้รับสารภาพ ซึ่งประชาชนทั่วไปแทบไม่มีทางต่อสู้ให้ชนะได้เลย
          "ผมเคยช่วยคดีเด็กคนหนึ่ง คือสายสืบบอกว่าจุดนี้จะมีคนขี่มอเตอร์ไซค์สีขาวมาขายยาเสพติด ตำรวจก็ไปดักรอ เด็กคนนี้เพิ่งกลับจากการติวหนังสือ เป็นเด็กเกรดเอ เรียนได้เกือบ 4.00 โดนตำรวจตะครุบแล้วพาไปวน ไม่พาไปโรงพักทันที กฎหมายเขียนว่าให้เอาไปโรงพักทันที แต่ถ้าไม่ทันทีตอนนี้กระบวนการยุติธรรมมีใครช่วย ได้ไหม? พ่อแม่เห็นลูกหายไป ตีสองตีสามยังไม่กลับบ้าน โทรศัพท์ไปถามแฟนบอกกลับตั้งแต่ สามทุ่ม พอพ่อแม่แจ้งความแค่นั้นเป็นเรื่องเลย บอกไม่ได้ว่าเอาเขาไปไหน ปรากฏว่ายัดยาเสพติด เสียเลย 900 กว่าเม็ด
          ทำไมต้อง 900 กว่าเม็ด? เพราะอัยการจะ ไม่ฟ้องไม่ได้ ศาลจะไม่ลงโทษก็ไม่มีทาง แล้วคน 12 ปากยืนยันว่าเด็กคนนี้ค้ายาเสพติด ทั้งที่เป็น เด็กเรียนเก่ง ทำงานสาธารณะมีใบประกาศต่างๆ มากมาย ทุกวันนี้เด็กคนนี้ยังติดคุกอยู่ ผมก็จนปัญญาไม่รู้จะช่วยเด็กคนนี้อย่างไร จนวันนี้เขาก็ยังบอกว่าไม่ได้ทำ พ่อแม่ก็ยังร้องไห้เสียใจ กระบวนการรื้อฟื้นคดีจะไปช่วยอะไรเขาได้ จะเอา พยานหลักฐานอะไรไปช่วยเขา?" อัยการน้ำแท้ กล่าว
          เรื่องนี้หากเป็นในประเทศที่เจริญแล้ว อัยการจาก จ.กาญจนบุรี ระบุว่า "เมื่อมีคดีเกิดขึ้น อัยการต้องสามารถเข้าถึงได้ภายใน 24 ชั่วโมง" ผู้ต้องหาถูกจับเมื่อไรอัยการต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทำคดีได้ตั้งแต่ ณ เวลานั้น ซึ่งจากคดีข้างต้น "เด็กหนุ่มมีร่องรอยฟกช้ำตามตัว" จากภาพที่พ่อแม่ถ่ายมา เมื่อไปเยี่ยมบุตรชายที่ถูกขังในสถานีตำรวจใหม่ๆ หลังจากหายตัวไปก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมง "แต่เรื่องนี้ ไม่ปรากฏในสำนวน" แน่นอนศาลไม่มีทางรู้ได้ เพราะกว่าจะไปขึ้นศาลแผลก็หายหมดแล้ว
          อัยการผู้นี้ กล่าวอีกว่า หากอัยการได้เห็น ผู้ต้องหาตั้งแต่ต้น เช่น เห็นรอยฟกช้ำตามตัว รวมถึง ยังมีข้อมูลอีกว่า มีผู้เห็นเด็กหนุ่มรายนี้ถูกจับไปราว 2-3 ทุ่ม แต่ไม่รู้ถูกพาไปไหนหลายชั่วโมง
          อย่างไรอัยการทราบแบบนี้ก็ต้องสอบถามว่า เกิดอะไรขึ้น ความเป็นธรรมก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้อง รอให้ถูกขังแล้วไปต่อสู้ถึงชั้นศาลเสียก่อน นอกจากนี้ หน่วยงานพิสูจน์หลักฐานในหลายประเทศก็ไม่ได้ขึ้นกับตำรวจเสียด้วยซ้ำ เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าพยานหลักฐานในคดีนั้นมีหรือไม่มีอยู่จริง ให้ทุกหน่วยงาน ยืนยันตรงกันไม่ใช่อ้างว่ามีหรือไม่มีโดยหน่วยงานเดียว
          "ทำไมตำรวจกลัวอัยการเห็นหลักฐานตั้งแต่เริ่มคดี? ท่านลองนึกดูท้องที่ที่มีสิ่งผิด กฎหมายมากๆ สิ่งเหล่านี้มันต้องจ่ายเพื่อละเว้นการดำเนินคดี จ่ายเพื่อเมื่อเกิดคดีจะได้บิดเบือนคุ้มครองเขาได้ ต้องลบพยานหลักฐานได้ ถ้าช่วย ไม่ได้จะจ่ายทำไม? ถ้าเงินนี้หายไปจากระบบ ท้องที่นั้น ก็ไร้ราคา เมื่อไร้ราคาก็ไม่ต้องซื้อตำแหน่ง
          เมื่อไม่ต้องซื้อตำแหน่งก็จะได้เอาคนเก่งๆ มาทำงาน มันให้ความเป็นธรรมกับคนเก่งได้ คนเก่ง จะได้โชว์ฝีมือ ไม่ใช่คนต่อรองเก่งหรือจัดสรร ผลประโยชน์เก่งเก็บส่วยเก่งจะได้รับการโปรโมท เราก็ จะได้คนดีๆ ท่านจะเห็นว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส มันแก้ปัญหาสารพัดของประเทศชาติได้"
          อัยการน้ำแท้ ระบุ
          เช่นเดียวกับ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ในทางกระบวนการยุติธรรมมีหลัก "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย" (nulla poena sine lege) อันเป็นหลักสากล สืบเนื่องจากในอดีตมักปรากฏเรื่องราว ผู้มีอำนาจใช้อำนาจไปเล่นงานศัตรูทางการเมืองของตน จึงต้องมีหลักดังกล่าว
          และในเวลาต่อมาหลักนี้ก็พัฒนามาตาม ลำดับ ว่าการจะเอาผิดใครสักคนหนึ่งต้องมีขั้นตอนว่า จะพิสูจน์ความผิดอย่างไรเพราะ "กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความเชื่อมโยงกับความทุกข์ของคนยากจน" หากทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใสตรวจสอบได้ จะแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศไปได้มาก ไม่ใช่ให้กระบวนการยุติธรรมมีหน่วยใด หน่วยหนึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะทำได้หมด "จะเป่าคดีให้หายไปก็ได้" ถ้าแก้ไขจุดนี้ไม่ได้ทุกข์ของประชาชนประเทศนี้ไม่อาจแก้ไขได้เลย สังคมไทยก็ยังคงพิกลพิการต่อไป
          "ทั้งหมดทั้งปวงนี้มันเชื่อมโยงกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ผมคิดว่าครึ่งหนึ่งของประเทศนี้ เพราะกฎหมายมีโทษทางอาญามัน เชื่อมโยงมาถึงตรงนี้ทั้งหมด อำนาจ อิทธิพล ของเถื่อน มันแก้ไม่ได้เพราะมันเชื่อมโยงมาถึง ตรงนี้หมด ประเทศไทยเราแก้ปัญหาไม่ได้เราก็สร้างองค์กรพิเศษอะไรต่างๆ ขึ้นมา ในต่างประเทศ เขาไม่มีองค์กรเยอะ เขาใช้กระบวนการหลักแก้ปัญหา ประเทศได้ จึงไม่จำเป็นต้องไปสร้างอาณาจักรใหม่ แล้วก็ย้อนรอยเส้นทางเดิม" อาจารย์บรรเจิด กล่าว
          อีกด้านหนึ่ง "ในประเทศไทยมีกฎหมาย มากมาย..มากเสียจนตำรวจบอกทำไม่ทัน" หลายเรื่อง จึงล่าช้าไป ประเด็นนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ระบุว่า จริงๆ มี ความพยายามให้ "โอนงานหลายๆ อย่างจากตำรวจ ไปให้หน่วยงานอื่นที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นรับผิดชอบ" มานานแล้วนับตั้งแต่ช่วงปี 2545-2547 แต่เรื่องนี้ "คืบหน้าช้ามาก" ซึ่งยิ่งช้าก็ยิ่งมีปัญหาสะสมหนักขึ้น
          เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหลายฉบับ ทั้งการควบคุมอาคาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ไม่สามารถเอาผิดด้วยตนเองได้ เจ้าหน้าที่เทศกิจทำได้เพียงรวบรวมหลักฐานไปแจ้งความกับตำรวจเท่านั้น ซึ่งเมื่อไปแจ้งแล้วตำรวจก็จะ บอกว่าทำไม่ทันเพราะตำรวจต้องทุ่มเททรัพยากร ไปกับคดีอาชญากรรมจำพวกลักวิ่งชิงปล้นหรือ ยาเสพติดก่อน ผลคือทุกวันนี้มีคดีที่ กทม. แจ้งความไว้แล้วค้างอยู่กับตำรวจจำนวนมาก
          "ตำรวจบอกงานเยอะ ถ้าเยอะก็ให้กรุงเทพ มหานครเขาทำ เรื่องนี้ก็อยู่ใน พ.ร.บ.กรุงเทพ มหานคร อยู่แล้ว เขาอยากและพร้อมจะทำด้วย อย่าง 50 เขต สอบสวนได้ทันที มีนิติกร เขารู้และชำนาญงานสอบสวนเฉพาะทางอยู่แล้ว แต่ ปรากฏตีความกันไปว่ายังไม่ออกกฎกระทรวงรองรับ ตั้งแต่ปี 2526 ก็ยังไม่ออกให้เป็นเรื่องเป็นราว อันนี้ปฏิรูปก็แค่ออกกฎกระทรวง หรือถึงไม่ออกกฎกระทรวงกรุงเทพมหานครก็มีอำนาจ ถามว่าการเปรียบเทียบปรับไม่ใช่อำนาจสอบสวนหรือ?
          เรื่องของเรื่องคืออัยการงง ปกติมีแต่ตำรวจสอบสวน พอ กทม. สอบสวนมาส่งเลยงง ก็ตีกลับ ก็เลยค้างอยู่ทุกวันนี้ พ.ร.บ. เขียนว่ากรุงเทพเป็นพนักงานสอบสวน ก็ออกกฎกระทรวง ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้คุณป้าก็ไม่ต้องเอาขวานไปจามรถ เพราะแกพึ่งไม่ได้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ค้างอยู่ตำรวจหมด ตำรวจบอกมีเป็นหมื่นคดี หายหมดทันที" พ.ต.อ.วิรุตม์ ยกตัวอย่าง
          ไม่ต่างจาก ปราโมทย์คริษฐ ธรรมคุณากร ประธานคณะทำงานกระบวนการยุติธรรม ในกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กล่าวเสริมประเด็นนี้ด้วยการยกตัวอย่าง "งานจราจร" ที่แนวทางการปฏิรูปตำรวจครั้งล่าสุดกำหนดให้โอนไปอยู่กับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใน 5 ปีว่านานเกินไป โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งประสบปัญหาการจราจรติดขัดเข้าขั้นวิกฤติ ควรเร่งโอนย้ายให้เรียบร้อยใน 1 ปี ในกรณีเมืองใหญ่ๆ จะดีกว่า หรือไม่? เพื่อให้มืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามา แก้ไข
          ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวจากแวดวงเสวนา..แต่ในท้ายที่สุดดูจะมีข้อสรุปว่า "โครงสร้างที่เป็นอยู่ มีผลประโยชน์มหาศาล" ในสายตาผู้มีอำนาจไม่ว่า กลุ่มใด ดังนั้น "แล้วจะมีใครลงมือแก้?" จึงดูจะเป็นคำถามที่ไร้ซึ่งคำตอบ!!!--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า