เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเยือนฮังการีอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภาฮังการี
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางสาวสตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนางจงเดือน สุทธิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ เป็นผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเดินทางเยือนฮังการีอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของสำนักงานรัฐสภาฮังการี ระหว่างวันที่ 17-23 เมษายน 2566
คณะผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เข้าพบกับบุคคลสำคัญระดับสูงของรัฐสภาฮังการี อาทิ นายลาสโลว์ เคอแวร์ ประธานรัฐสภาฮังการี นายอิสวาน ยาคอบ รองประธานรัฐสภา ฮังการี นายอิสวาน สิมิสโก ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาฮังการี-ไทย และนายเยิร์ก ซุซ เลขาธิการรัฐสภาฮังการี
การเยือนฮังการีในโอกาสดังกล่าว มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) การกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 รัฐสภา โดยเฉพาะในโอกาสการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย- ฮังการี ครบรอบ 50 ปี ในปี 2566 และ 2) การศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบงานนิติบัญญัติ โดยเฉพาะระบบสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ และการบริหารจัดการอาคารรัฐสภาและพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในโอกาสนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายเยิร์ก ซุซ เลขาธิการรัฐสภาฮังการี ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (Cooperation Agreement) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและขยายความสัมพันธ์ระหว่างสอง สำนักงานในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของรัฐสภา ทั้งสอง ประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกรอบข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมประเด็นในมิติต่างๆ เช่น การเปรียบเทียบกฎหมายและกระบวนการนิติบัญญัติ ระบบคณะกรรมาธิการ ความโปร่งใสและการให้บริการข้อมูลข่าวสาร ระบบรัฐสภาอิเล็กทรอนิกส์ การทูตรัฐสภาในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านกิจกรรมสาธารณะ วัฒนธรรม และด้านการศึกษาและโครงการสำหรับเยาวชนเพื่อสนับสนุนให้สถาบันนิติบัญญัติให้ความสำคัญกับพลเมืองมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง คณะผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้พบหารือกับนายนิพนธ์ เพ็ชรพรประภาส เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงบูดาเปสต์ โดยได้หารือถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฮังการี รวมทั้ง ตัวเลขทางการค้าและประเด็นความความร่วมมือด้านต่างๆ โดยนายนิพนธ์ เพ็ชรพรประภาส ได้กล่าวว่า กรอบความร่วมมือของรัฐสภามีบทบาทสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระดับสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน และเป็นโอกาสในการพบกับผู้นำระดับสูงของฝ่ายรัฐสภาของต่างประเทศซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ร่วมทั้ง การติดตามและผลักดันผลประโยชน์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
เครดิต : ข่าวและภาพ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |