เมื่อวันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วยผู้แทนรัฐสภาไทยประกอบด้วย พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา และนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาว่าด้วยการสานเสวนาระหว่างศาสนา (Parliamentary Conference on Interfaith Dialogue) ระหว่างวันที่ 13 15 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุม Palais des Congrès เมืองมาร์ราเกช ราชอาณาจักรโมร็อกโก โดยมีนางสาวเพ็ญแข อินทรสุวรรณ อุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต เป็นที่ปรึกษาคณะผู้แทนรัฐสภาไทย
การประชุมย่อย 1. การอภิปรายย่อย แทร็ค 2 ด้านสันติภาพและการให้ทุกคนมีส่วนร่วม หัวข้อ สมาชิกรัฐสภาจะสามารถให้ความร่วมมือกับชุมชนทางศาสนาและองค์กรที่อิงความเชื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความพอประมาณ ความสมัครสมานสามัคคี และการให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้นได้อย่างไร (How can parliamentarians cooperate with religious communities, and faith-based organizations to mobilize society for greater moderation, solidarity and inclusion?) นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ร่วมอภิปรายในหัวข้อนี้โดยเสนอหลักการ บวร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างผู้นำทางศาสนา ผู้นำด้านการเมือง และประชาชนในชุมชน โดยในส่วนของภาคการเมืองคือรัฐบาลและรัฐสภาจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งประชาชนในชุมชนและผู้นำทางศาสนาซึ่งทั้งหมดต่างสนับสนุนค้ำจุนซึ่งกันและกันไม่สามารถแยกจากกันได้ นางสาววิบูลย์ลักษณ์ฯ ได้ยกตัวอย่างในวิธีปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับองค์กรที่อิงความเชื่อใน 6 ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดประยุรวงศา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเรียกว่าชุมชนกระดีจีน เมื่อ 200 ปีที่แล้วมีพ่อค้าชาวต่างชาติล่องเรือและมาจอดเรือ ณ สถานที่แห่งนี้เพื่อตรวจสภาพเรือก่อนที่จะล่องเรือต่อไปอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการพักค้าง พ่อค้าต่างชาติเหล่านี้จึงได้นำเงินจากการขายสินค้ามาบริจาคเพื่อสร้างวัด ศาลเจ้า โบสถ์และมัสยิด ทั้งนี้ตามความเชื่อของผู้สร้าง เมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาได้นำหลักบวรมาใช้กับ 6 ชุมชนที่ตั้งอยู่รอบวัดโดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสมาชิกรัฐสภา โดยหลักการ บวร นี้ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นในหลายมิติเช่นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม จิตวิญญาณและธรรมชาติ ในส่วนของบทบาทของสมาชิกรัฐสภานั้นคือการส่งเสริมและสนับสนุนความสามัคคีและความปรองดองให้เกิดขึ้นใน ชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศดังตัวอย่างของชุมชนกระดีจีนที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นในประเทศเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนทางศาสนาและองค์กรที่อิงความเชื่อหรือ FBOs
2. การอภิปรายย่อย แทร็ค 1 ด้านหลักนิติธรรม หัวข้อ การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหลักนิติธรรมกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อมีความชัดเจนเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐและความเป็นพลเมือง (Clarifying the relationship between the rule of law and freedom of religion or belief to preserve statehood and citizenship) โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อนี้ว่า สังคมประกอบด้วยประชาชนผู้ซึ่งมีความเชื่อศาสนา วัฒนธรรม และค่านิยม ทั้งนี้เราไม่อาจปฏิเสธว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประชาชน การเมืองเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรหรือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ ทุกสังคมควรจะต้องมีหลักนิติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หากทุกสังคมมีหลักนิติธรรมจะเป็นการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดหลักนิติธรรมไว้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันถึงความเสมอภาคทางกฎหมายของประชาชนทุกคน นอกจากนี้ เสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน แม้ว่ามีการเสนอแนวคิดที่จะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่หลายครั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้ระบุศาสนาประจำชาติไว้ มีเพียงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธศาสนิกชน และยังทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนาด้วย บทบาทสำคัญของรัฐสภาคือการตรวจสอบรัฐบาล สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้บัญญัติกฎหมายเองนั้นจะต้องทำหน้าที่ภายใต้หลักนิติธรรม ยิ่งกว่านั้นในประเทศที่ใช้หลักนิติรัฐ สิทธิของประชาชนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยกฎหมายสูงสุดของประเทศ
3. การอภิปรายย่อย แทร็ค 2 ด้านสันติภาพและการให้ทุกคนมีส่วนร่วม หัวข้อ ขอบเขตอำนาจที่แตกต่างกัน เป้าหมายร่วมกัน : ผู้มีบทบาททางศาสนาและสมาชิกรัฐสภาเป็นพันธมิตรในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการมีส่วนร่วมของเยาวชน (Different mandates, common goals: Religious actors and parliamentarians as allies for promoting gender equality and youth participation) พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ได้อภิปรายในหัวข้อนี้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและดำเนินการเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศในแวดวงการเมือง สนับสนุนให้สตรีมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศไว้ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 เช่น มาตรา 90 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
อย่างไรก็ตาม หนทางการบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคระหว่างเพศยังอีกยาวไกล ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2562 มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรี ร้อยละ 16.6 และสมาชิกวุฒิสภาสตรีร้อยละ 10.4 ซึ่งมีสัญญาณที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความคืบหน้าของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงหลังการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.2 พัฒนากระบวนการจัดทำงบประมาณของส่วนราชการโดยบัญญัติมาตรา 71 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญให้รัฐพึงสงเคราะห์เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจะคุ้มครองบุคคลดังกล่าวจากการใช้ความรุนแรงหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ส่วนนี้ยังมี Gender Responsive Budgeting หรือ GRB หรือการจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติทางเพศ
นอกจากนี้ เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมอำนาจทางการเมืองของผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญ รัฐสภาไทยกำลังพยายามทำลายเพดานกระจกและลดอคติทางเพศในสังคมไทย
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|