|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสำนักงานฯ |
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ ครั้งที่ 2 ของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกในสหภาพรัฐสภา
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 30 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2566
|
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 13.30 15.30 น. สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และน.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการสัมนนาออนไลน์ ครั้งที่ 2 ของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกในสหภาพรัฐสภา ประจำปี 2566 (Second Asia-Pacific Group Webinar Series 2023) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการนี้ รัฐสภาออสเตรเลียในฐานะประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกในสหภาพรัฐสภาเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา โดยมี Mr. Milton Dick ประธานสภาผู้แทนราษฎรเครือรัฐออสเตรเลียทำหน้าที่ประธานการประชุมและดำเนินการสัมมนา ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวมีสมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภาจากประเทศสมาชิกกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกกว่า 45 คนเข้าร่วม
การสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 เป็นการรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานสหภาพรัฐสภา คนที่ 31 จาก 3 ประเทศ ได้แก่ 1) Ms. Catherine Gotani Hara จากมาลาวี 2) Ms. Adji Diarra Mergane Kanouté จากเซเนกัล และ 3) Ms. Marwa Hagi จากโซมาเลีย ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมิได้รับฟังวิสัยทัศน์จากผู้สมัครของแทนซาเนีย ได้แก่ Dr. Tulia Ackson เนื่องด้วยอยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ จากนั้น ผู้สมัครทั้งสามยังได้ตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยเฉพาะในประเด็นการส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในทางการเมืองและนโยบายในการปกป้องคุ้มครองสตรีในแวดวงการเมืองด้วย
ต่อมา ในเวลา 14.00 น. การสัมมนาได้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ในหัวข้อ การเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของสตรีในรัฐสภาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Womens leadership and engagement with parliament in the Asia-Pacific Region) ในการดังกล่าว นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานสหภาพรัฐสภา และกรรมการบริหาร IPU และกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (โดยตำแหน่ง) ได้รับเชิญจากเจ้าภาพผู้จัดการสัมมนาให้ทำหน้าที่ผู้นำเสนอปาฐกถาพิเศษ (Keynote address) ในหัวข้อดังกล่าว หลังจากการนำเสนอของ Ms. Cynthia Lopez Castro สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเม็กซิโก ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี สรุปสาระสำคัญได้ว่า ตามข้อมูลสถิติจาก UN Women ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับสัดส่วนสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจไว้ในลำดับสูงทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค อีกทั้งยังมีการผลักดันเพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงให้มากขึ้นในภาคการเมืองโดยรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่กำหนดให้พรรคการเมืองคำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงในการจัดทำบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ถึงร้อยละ 18.8 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 ทำให้ไทยขยับเข้าไปใกล้ค่าเฉลี่ยของโลกว่าด้วยผู้หญิงในรัฐสภาที่ร้อยละ 26 นอกจากนี้ ยังแสดงความหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีจะได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎรในจำนวนที่มากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
รัฐสภาไทยยังส่งเสริมนโยบายความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเพื่อให้เป็นรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศ โดยการไม่ยอมรับพฤติกรรมการเหยียดเพศและการล่วงละเมิดทางเพศในทุกรูปแบบ โดยมีกลไกของประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาและกรรมาธิการ รวมถึงประมวลจริยธรรมข้าราชการรัฐสภากำกับไว้ อย่างเคร่งครัด ภายใต้การดูแลของเลขาธิการวุฒิสภาและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบันที่เป็นสุภาพสตรีทั้งสองคน นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2539 ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ซึ่งมีทั้งสมาชิกสตรีจากทั้งสองสภา และจากหลากหลายพรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมอย่างแข็งขันและต่อเนื่องในการเสริมพลังของสมาชิกรัฐสภาสตรีร่วมกับองค์กรพันธมิตรจากทุกภาคส่วน อาทิ นำเครื่องยังชีพที่จำเป็นไปแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ยังได้กล่าวต่อไปถึงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยที่แบ่งออกเป็นแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้ง โดยที่การเลือกตั้งในแบบแบ่งเขต ใช้ระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะการเลือกตั้ง ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครที่แพ้ชนะกันเพียงไม่กี่คะแนน ปัจจัยในเรื่องการรักษาสัญญาและนโยบายประชานิยมส่งผลเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง อย่างไรก็ดี ไม่อาจปฏิเสธได้ในเรื่องของการใช้เงินทุนสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้งและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง การหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกันในการสื่อสารโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนประเด็นด้านกฎหมายของกฎหมายเลือกตั้งโดยหากผู้สมัครรับการเลือกตั้งไม่ศึกษาและดำเนินการหรือหาเสียงที่ขัดกับกฎหมายเลือกตั้งก็จะทำให้การสมัครเป็นโมฆะ ปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้ผู้สมัครชนะการเลือกตั้งคือ เรื่องของจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่มาพร้อมกับโชค การสื่อสารหรือนโยบายที่เหมาะสมที่มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล อย่างไรก็ดี ไทยมีความหวังเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกจะสามารถสรรหาสมาชิกรัฐสภาสตรีที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนของภูมิภาคทำงานร่วมกับสมาชิกรัฐสภาบุรุษในคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาในตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนระหว่างหญิง-ชายและเพื่อประโยชน์โดยรวมของกลุ่มภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เครดิต : ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|