1. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 212 (The 212nd Session of the Governing Council) ในเวลา 09.00 -11.00 นาฬิกา โดยมี Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุมและเลขานุการการประชุมตามลำดับ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามระเบียบวาระการประชุม ได้แก่ รับทราบรายงานการดำเนินงานของประธานสหภาพรัฐสภาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รายงานสถานการณ์ด้านการเงินและการคลังของ IPU ประจำปี 2566 และการจัดทำงบแผนประมาณสำหรับปี 2567 ตลอดจน รับฟังการรายงานการดำเนินการของประเทศสมาชิกในการปฏิบัติตามข้อมมติ หรือข้อวินิจฉัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ IPU นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้ Hon. Ms. Carolina Cerqueira ประธานรัฐสภาแองโกลา ในฐานะประเทศเจ้าภาพทำหน้าที่ประธานสมัชชาครั้งที่ 147 ด้วยมติเป็นเอกฉันท์
ต่อมาเมื่อเวลา 11:00 น ที่ประชุมได้เริ่มเข้าสู่การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Assembly) เป็นวันแรก โดยมี Hon. Ms. Carolina Cerqueira ปฏิบัติหน้าที่ประธานในการประชุม ตามที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมคณะมนตรีบริหารโดยที่ประชุมได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงของหัวหน้าคณะผู้แทนระดับประธานรัฐสภา/ประธานสภา (high-level segment) ซึ่งได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 6 นาที ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ คือ "Parliamentary actions for peace, justice and strong institutions (SDG16)" พร้อมทั้ง ได้มีการเปิดตัวคู่มือตัวชี้วัด Indicators for Democratic Parliaments ฉบับที่จัดทำล่าสุดโดย IPU เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ใหม่สำหรับประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐสภาและสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาทั่วโลกด้วย
จากนั้นในเวลา 17.00 น ที่ประชุมสมัชชาได้เข้าสู่วาระการพิจารณาข้อเสนอหัวข้อเพื่อพิจารณาลงมติบรรจุเป็นระเบียบวาระเร่งด่วน (emergency items) โดยประเทศสมาชิกได้เสนอเข้ามาทั้งหมดรวม 4 รายการ ซึ่งต่อมาในภายหลังได้ผนวกรวมเข้ากับร่างข้อมติอื่น หรือถอนการเสนอออกไป จนเหลือเพียง 2 ข้อเสนอ ที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในอิสราเอลและฉนวนกาซา เสนอโดยกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ Twelve Plus และกลุ่มอาหรับ โดยคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกในการลงมติเพื่อเลือกหัวข้อระเบียบวาระเร่งด่วน ผลปรากฎว่าไม่มีข้อเสนอของฝ่ายใดได้รับคะแนนเสียงผ่านเกณฑ์สองในสามของคะแนนเห็นชอบกับคะแนนไม่เห็นชอบรวมกัน ตามข้อบังคับของ IPU จึงทำให้ข้อเสนอทั้งสองเป็นอันตกไป และการประชุมสมัชชาในครั้งนี้จะไม่มีการพิจารณาร่างข้อมติวาระเร่งด่วน
2. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group on Countering Terrorism and Violent Extremism : HLAG-CTVE) ของสหภาพรัฐสภา เข้าร่วมการประชุม HLAG-CTVE ครั้งที่ 15 โดยที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบวาระที่สำคัญ ได้แก่ ข้อเรียกร้องต่อปัญหาการก่อการร้ายในอนุภูมิภาคซาเฮล (Call of the Sahel) และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุม Global Parliamentary Summit on Counter Terrorism and Vilolent Extremism ครั้งที่ 2
3. นายภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน มีวาระสำคัญ ได้แก่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และรับรองร่างข้อมติหัวข้อ Orphanage trafficking : The role of parliaments in reducing harms ซึ่งมีคำขอแก้ไขร่างข้อมติรวมทั้งสิ้น 194 ประเด็น จาก 36 ประเทศ โดยผู้แทนรัฐสภาไทยสามารถผลักดันข้อเสนอของไทยในการแก้ไขร่างข้อมติดังกล่าวจำนวน 26 ประเด็น ให้ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมได้สำเร็จเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำฐานข้อมูลของประเทศ การสนับสนุนด้านงบประมาณ และบทบาทของสมาชิกรัฐสภาในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและครอบครัวเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์และการละเมิดสิทธิของเด็กในบริบทของการแสวงหาประโยชน์จากสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าในบริบทของการท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ จะมีการพิจารณารับรองร่างข้อมติฉบับดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ วันที่ 26 ตุลาคม 2566
4. ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาของสหภาพรัฐสภาว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมการประชุมคณะที่ปรึกษาฯ (วาระที่ 1) โดยที่ประชุมได้อภิปรายเกี่ยวกับผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ผ่านมาของคณะทำงานฯ และแผนกิจกรรมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เสนอโดยประธานคณะทำงานฯ ว่าด้วยการส่งเสริมการเชื่อมโยงชุมชนวิทยาศาสตร์กับงานรัฐสภา ในโอกาสดังกล่าว ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ได้ร่วมอภิปรายนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการจัดทำเอกสารสนับสนุนประเภท policy brief ในประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะด้าน เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกโดยสรุปให้แก่สมาชิกรัฐสภาไทยใช้ประกอบการตัดสินใจในกิจการงานนิติบัญญัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ The role of parliaments in securing effective public spending for childrens rights ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และสหภาพรัฐสภา (IPU) ซึ่งเป็นกิจกรรมข้างเคียง (side-event) เพื่อรณรงค์ให้สมาชิกรัฐสภาได้ตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก พร้อทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศสมาชิกทั่วโลก
5. น.ส.ตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และร่วมอภิปรายในหัวข้อ Inventory of tools for MPs to engage in dialogue, legislation, oversight and prevention in the pursuit of peace โดยได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่าไทยสนับสนุนนวัตกรรม และเครื่องมือของ IPU ที่พัฒนาสืบเนื่องมาจากข้อมติของ IPU ว่าด้วยแนวทางและกลไกส่งเสริมกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนของคณะกรรมาธิการฯ ในโอกาสการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 144 เมื่อเดือนมีนาคม 2565 อันจะช่วยขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพโดยความร่วมมือที่กว้างขวางและลึกซึ้ง ผ่านบทบาทของรัฐสภาด้านการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินที่เข้มแข็งเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านสันติภาพจากข้อมติดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจริง
6. ต่อมา น.ส.ตวงทิพย์ จินตะเวช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมยุวสมาชิกรัฐสภา (Forum of Young Parliamentarians) โดยได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมในวาระ Update s on youth participation โดยได้รายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าล่าสุดของไทย ว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมาของไทย มีคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปีได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฏร ในจำนวนสูงถึง 210 คน คิดเป็นร้อยละ 42 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งหมด ซึ่งสูงว่าค่าเฉลี่ยในระดับโลกที่ร้อยละ 31.6 อีกทั้ง ยุวสมาชิกรัฐสภายังได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญในสภาผู้แทนราษฎรถึง 9 คน โดยไทยเชื่อมั่นว่ายุวสมาชิกรัฐสภาไทยจำนวนมากนี้ จะสะท้อนเสียงและความต้องการของเยาวชน รวมทั้งประกันสิทธิและแก้ไขปัญหาให้แก่คนรุ่นใหม่ได้
7. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยพบปะหารือทวิภาคีกับ คณะผู้แทนรัฐสภายูเครน นำโดย Mr. Oleksandr Korniyenko รองประธานรัฐสภายูเครน โดยฝ่ายยูเครนได้แสดงความขอบคุณประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ที่ได้สนับสนุนข้อมติของสหประชาชาติว่าด้วยการสู้รบในยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยได้มอบให้แก่ประชาชนชาวยูเครนที่เผชิญกับความยากลำบากในภาวะสงคราม โดยยูเครนในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ของ AIPA หวังว่ากลไกกลุ่มมิตรภาพระหว่างไทยกับยูเครนจะได้กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติในเร็ววัน พร้อมทั้งขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาสนับสนุนข้อเสนอแผนสันติภาพ 10 ข้อของประธานาธิบดี Zelensky ด้วย
ทางด้านฝ่ายไทยย้ำถึงแนวทางการต่างประเทศของไทยที่ยึดมั่นในแนวทางการไม่เผชิญหน้าและการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย รวมถึงระบบพหุภาคีที่วางอยู่บนกฎกติการะหว่างประเทศที่ยอมรับร่วมกันโดยเฉพาะหลักการภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติมาโดยตลอด รวมถึงวางอยู่บนสมดุลระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนความริเริ่มของ IPU ในการจัดตั้ง special task force on Ukraine และผลการทำงานในปีที่ผ่านมาที่ได้พยายามสานเสวนาระหว่างทั้งสองฝ่ายผ่านการทูตรัฐสภา เพื่อแสวงหาหนทางคลี่คลายความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งนี้ รัฐสภาไทยจะใช้อำนาจนิติบัญญัติกำกับตรวจสอบการดำเนินการต่างประเทศของฝ่ายบริหาร เพื่อให้แนวทางการลงมติของในสหประชาชาติของไทยมีความเสมอต้นเสมอปลายและวางอยู่บนหลักการอันชอบด้วยกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ
เครดิตภาพและข่าวโดย : ฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 147 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร