วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 - 1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดตัวหนังสือคู่มือ กลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับรัฐสภาไทย โดยมี น.ส.สตีจิตร ไตรพิบูลย์สุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหาร บุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิธี
โอกาสนี้ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเปิดตัวหนังสือในวันนี้ด้วยการที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวนสุดขั้วทำให้เกิดภาวะโลกเดือด ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินการในเรื่องการปรับตัว การบริหารจัดการเพื่อบรรเทาผลกระทบ และความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับภัยพิบัติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันในการดำเนินการเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นได้ให้คำมั่นในการประชุม COP 26 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้รับรองเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ฉบับปรับปรุงครั้งที่สอง ในเดือน พ.ย. 65 แล้ว โดยได้มีการเพิ่มเติมประเด็นความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 จากระดับปกติ (Business As Usual: BAU) ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2573 โดยให้ความสำคัญในการปรับตัวในหลายมิติเพิ่มขึ้น และจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 40 หากมีการเข้าถึงเทคโนโลยี ทรัพยากรทางการเงิน และการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านข้อตกลงระดับโลกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยประเทศไทยจะยังคงมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนระยะยาว ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ในฐานะที่รัฐสภามีบทบาทสำคัญในด้านการออกกฎหมาย การกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน การเป็นผู้แทนของประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณางบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ในการจัดทำคู่มือ "กลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ " โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ทำงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการสนับสนุนภารกิจด้านงบประมาณของสมาชิกรัฐสภา ผ่านคู่มือการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการในการดำเนินการจัดทำโดยการระดมสมองของข้าราชการรัฐสภา เพื่อให้คู่มือดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง และขอให้การจัดโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
จากนั้น เป็นการบรรยาย จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. เรื่อง การสนับสนุนการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายกานต์ รามอินทรา หัวหน้าทีมบูรณาการ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นวิทยากร 2. เรื่อง มุมมองและเป้าหมายจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.นารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นวิทยากร 3. เรื่อง บทบาทของรัฐสภาในเรื่องการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประสบการณ์ระหว่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก นายวิเวค มิสรา ผู้เชี่ยวชาญการจัดการการคลังรัฐระดับภูมิภาค UNDP BRH เป็นวิทยากร 4. เรื่อง คู่มือการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับรัฐสภาไทย โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.อารียา โอบิเดียกวู อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากร
สำหรับพิธีดังกล่าวจัดโดย กลุ่มงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานศูนย์ประชาคมอาเซียน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปิดตัวคู่มือกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับรัฐสภาไทยอย่างเป็นทางการ และเพิ่มความตระหนักรู้ถึงบทบาทของรัฐสภาในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการดำเนินการตาม SDGs
|