|
|
เมื่อวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 เวลา 09.30-16.00 นาฬิกา (วันที่สอง) คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดยนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พร้อมด้วยคณะประกอบด้วย นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา สมาชิกวุฒิสภา น.ส.จิรัชยา สัพโส นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ นายวีรภัทร คันธะ และน.ส.ศรีโสภา โกฏคำลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 86 ณ อาคาร 1 สำนักงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนาย ชุนอิจิ ยามากุชิ (Hon. Mr. Chunichi Yamaguchi) ประธานหน่วยประจำชาติญี่ปุ่นเป็นประธานการประชุมสมัชชาใหญ่ APPU สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. การรับรองข้อมติ จำนวน 8 เรื่อง โดยรัฐสภาไทย ได้เสนอร่างข้อมติว่าด้วยการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิกเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีสาระสำคัญกล่าวถึงการเข้าถึงอาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีการรับรองไว้ในความตกลงระหว่างประเทศ นอกจากนี้ความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติมีความเชื่อมโยงกัน โดยประชากรโลกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ได้อย่างเพียงพอมีสาเหตุประการหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ร่างข้อมตินี้จึงเสนอให้รัฐสภาสมาชิกดำเนินการ (1) ทบทวนกฎหมายและพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร การปรับตัวและรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (2) ติดตามการปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและฟื้นตัว (3) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ของประเทศสมาชิก และ (4) การแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการผลิตอาหารในโลกยุคการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. การกล่าวรายงานสถานการณ์ประเทศ ในส่วนของรัฐสภาไทย นายวีรภัทร คันธะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กล่าวรายงานมีสาระสำคัญกล่าวถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก นอกจากนี้รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการบรรจุวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายระดับสูงสุดภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และจัดทำแผนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรก ขณะเดียวกัน ในเวทีระหว่างประเทศ ไทยได้ผลักดันเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเน้นย้ำพันธกรณีเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเน้นย้ำให้วาระสภาพภูมิอากาศ (Climate Agenda) เป็นวาระลำดับแรกสุดของรัฐสภาไทยในการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุม COP 28 ในส่วนท้ายของรายงานฯ เป็นการเสนอให้ที่ประชุมให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และควรมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทรัพยากร และเทคโนโลยีด้านการติดตามสภาพภูมิอากาศและแนวทางการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและการรุกล้ำของน้ำเค็ม นอกจากนี้ ไทยมีข้อเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงกลไกทางการเงินระหว่างประเทศได้มากขึ้นเพื่อดำเนินโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังขอเสียงสนับสนุนต่อร่างข้อมติที่ไทยเสนอในการประชุมครั้งนี้ด้วย
3. เห็นชอบให้ไต้หวันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPU ในปี พ.ศ. 2568 และปาปัวนิวกินีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPU ในปี พ.ศ. 2569
หลังจากนั้น เวลา 19.00 - 20.00 น. คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยนายโฮซากะ ยาซูชิ (Mr. Hoosaka Yasushi) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐสภาญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ
เครดิตภาพและข่าว :กลุ่มงานสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|