|
|
วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1 2 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ รศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานในพิธีเปิดตัว LawLink แพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ (Soft Launch LawLink Digital Platform For Public Consultation In Thailands legislative process) โดยมี ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ร่วมพิธี
สำหรับแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ จัดทำโดย สำนักนวัตกรรม เพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับรัฐสภา The Centre for Humanitarian Dialogue สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ร่วมกันพัฒนา โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรับฟังความเห็นโดยการใช้นวัตกรรมที่เป็นแพลตฟอร์ม ในฐานะเครื่องมือในการรับฟังความเห็น รวมทั้งการรวบรวมและรับฟังความเห็นของประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ต่อ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา การให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายที่จะมีการเสนอเข้าสภา หรือเป็นการเสนอประเด็น ปัญหาของประชาชน ในรูปแบบของความต้องการหรือนโยบายที่ต้องการ ถือเป็นการริเริ่มจากภาคประชาชน (People Initiative) และยังมีฟังก์ชันในการตั้งกระทู้เพื่อการปรึกษาหารือกับประชาชนโดยตรง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายตามกระบวนการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย ลักษณะของแพลตฟอร์มดังกล่าวจึงเป็นได้ทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเป็นการสนทนากันทั้ง 2 ทาง ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ สมาชิกรัฐสภา ฝ่ายนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร พรรคการเมือง ตลอดจนองค์กรของรัฐสามารถนำข้อเสนอและความเห็นจากภาคประชาชนโดยตรง ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในแง่ของกระบวนการทางรัฐสภา การกำหนดแนวทางนโยบาย หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการทำงานวิจัยเพื่อประเมินผลเครื่องมือแพลตฟอร์มดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพและขีดจำกัดอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับการรับฟังความเห็นแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|