คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 ที่จังหวัด บาหลี อินโดนีเซีย เป็นวันแรก
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย พร้อมด้วย นายคริษฐ์ ปานเนียม นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมภาครัฐสภาในโอกาสการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพรัฐสภา (IPU) และสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย เพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและแสวงหาความร่วมมือของรัฐสภาทั่วโลกในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้านการบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโอกาสนี้ นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมในช่วงที่ 1 ภายใต้หัวข้อ การเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล โดยระบุถึงความสำคัญของการพัฒนาโอกาสในการเข้าถึงน้ำสะอาดและ มาตรฐานสากลด้านสุขาภิบาลของประเทศไทยทั้งในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 : น้ำสะอาดและ สุขาภิบาล เช่น การออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี โดยยึดหลักผสมสานของการดำเนินการใน 3 ระดับ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2) การใช้น้ำ และ 3) การจัดการน้ำเสีย ทั้งนี้ รัฐสภาไทยมุ่งเป้าในการมีส่วนร่วมและ การสนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าทั้งการอุปโภค บริโภค และการชลประทาน การลดผลกระทบของการสูญเสียที่เกิดจากน้ำท่วมและภัยแล้งรวมทั้ง การกำจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ขัดขวางการเข้าถึงความต้องการด้านน้ำและสุขาภิบาลของ ประชาชน
ต่อจากนั้น นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุม ในช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ โดยได้นำเสนอบทบาทนำของรัฐสภาในการ สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารจัดการน้ำภายในชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ โครงการฝายแกนดินซิเมนต์แก้แล้ง-แก้จน เพื่อรักษาแหล่งน้ำให้ชุมชนมีน้ำพอใช้ในครัวเรือนและการเกษตรกรรมตลอดทั้งปี เป็นผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น 4 เท่า รวมทั้ง เป็นการรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันตลิ่งพังทลาย และเป็นตัวอย่างของโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ของฝ่ายนิติบัญญัติในการสร้างการมีส่วนร่วมและความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกรัฐสภากับประชาชนในกระบวนการ เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำได้อย่างแท้จริงอนึ่ง การประชุมน้ำโลก (World Water Forum) จัดขึ้นเป็นประจำทุก 3 ปี โดยองค์กร World Water Council ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐสภาภายใต้การนำของ IPU ได้มีส่วนร่วมในการแสดง ความมุ่งมั่นและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลกเพื่อยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
เครดิต : ข่าวและภาพ โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |