วันอังคารที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๓๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข ๒๑๙ ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๒ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการบูรณาการ ประสาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉินของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน โดยเชิญหน่วยงานภาคเอกชน มาเข้าร่วม ๖ หน่วยงาน ได้แก่ สถานีวิทยุข่าวสารและการจราจร (จส.๑๐๐) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ผู้จัดการมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ผู้จัดการมูลนิธิร่วมกตัญญู และผู้จัดการมูลนิธิสยามรวมใจ
โดยจากการประชุมในครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๙ ได้นำไปสู่การพัฒนาให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรหลายฝ่าย เพื่อพัฒนาระบบและดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยอยู่นอกสถานพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ร้ายแรงได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา ตลอดจนลดไม่ให้เกิดผลเสียที่ไม่สมควร ๖ ประการ เช่น เสียชีวิต พิการ เจ็บป่วยซ้ำเติม เจ็บปวดทรมาน ความไม่พึงพอใจ และค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่า ซึ่งมีข้อสรุปเกิดขึ้น เช่นการร่วมกันกวดขันให้เกิดการปฏิบัติทางวินัยของทุกส่วน เช่น
๑. ผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะ ตลอดจน ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์จะใช้สัญญาณไฟและเสียงอย่างเหมาะสม
๒. การอนุญาตเพิ่มจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับพรบ. จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๖ โดยปรับให้เป็น "การให้ทาง" แก่รถที่จำเป็นต้องมีการใช้สัญญาณไฟและเสียง แทนการชะลอ จอดหรือหยุดในทางด้านซ้ายของถนนต่างๆ
๓. การรักษากฎหมายว่าด้วยระเบียบการก่อสร้างอาคารสูงและการต่อเติมสิ่งปลูกสร้างผิดประเภท อาทิ ทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถวที่ปิดทาง
๔. การประชาสัมพันธ์ในข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีระเบียบวินัยการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย
นอกจากนี้ ทางกรมขนส่งทางบก จะมีการนำประเด็นความรู้และความเข้าใจในการ "ให้ทาง" แก่รถฉุกเฉินไปบรรจุในฐานข้อสอบใบขับขี่ ตลอดจนการพิจารณาให้ผู้ที่จะขับขี่ รถยนต์ ควรจะต้องมีทักษะเบื้องต้นในการปฐมพยาบาล ดังนั้น การร่วมมือให้เกิดระบที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด หากเกิดอันตรายหรือการเจ็บป่วยขึ้นนอกสถานพยาบาล ให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทุกคน ในทุกสถานการณ์ที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยอยู่นอกสถานพยาบาล โดยคณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ พิจารณาทบทวนปัญหาหรือข้อขัดข้องที่ผ่านมาในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ประสบเหตุหรือประสบภัยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ให้เกิดเป็นแผนบูรณาการกรณีกู้ชีพฉุกเฉิน ตลอดจน การนำประเด็นที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ เพื่อการพิจารณาในลำดับต่อไป และการประชุมครั้งที่ ๒ ในวันนี้ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมาให้ข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในการทำงานตามบทบาทของตนเองให้ดีมากยิ่งขึ้น ตลอดจน รับฟังปัญหา ข้อจำกัดตา่ง ๆของแต่ละหน่วยงาน และข้อเสนอแนะ สำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ โดยที่ประชุมจะขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเสนอเรื่องหลักเกณฑ์การให้สัญญาณฉุกเฉิน และขอให้ที่ประชุมยกตัวอย่างกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงว่ามีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร |