|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสำนักงานฯ |
การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (Standing Committee on United Nations Affairs) ในการประชุม สมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๘
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 29 ๏ฟฝ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2561
|
***ข่าวประชาสัมพันธ์จากสำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ*** วันอังคารที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ และพลเอก ธีรเดช มีเพียร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (Standing Committee on United Nations Affairs) ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๘ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยจัดให้มีการอภิปรายย่อย ๒ หัวข้อ ประกอบด้วย๑) หัวข้อ "รัฐสภากับการติดตามความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเตรียมการสำหรับเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ๒๕๖๑ (2018 High-level Political Forum - HLPF) ของสหประชาชาติ" ซึ่งคณะผู้แทนไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมฯ ว่า ประเทศไทยมิได้เข้าร่วมการทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสมัครใจ หรือ Voluntary National Review (VNR) ในปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วม VNR ไปแล้วเมื่อปี ๒๕๖๐๒) หัวข้อ "Transformation towards sustainable and resilient socities" ซึ่งเป็นหัวข้อของการประชุม HLPF ในปีนี้ โดยเป็นการสะท้อนถึงแนวทางการประเมินความก้าวหน้าในการมุ่งไปสู่ความยั่งยืนต่าง ๆ เช่น รอยเท้านิเวศ (Ecological Footprint) และที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันอภิปรายถึงแง่มุมที่สำคัญของความยั่งยืน เช่นที่สะท้อนอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเป็นประเด็นหลักในเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ๒๕๖๑ ประกอบด้วย- การรับรองการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำ และสุขาภิบาลที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน (เป้าหมายที่ ๖)- การรับรองการมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ ยั่งยืน และทันสมัย (เป้าหมายที่ ๗)- การทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืน (เป้าหมายที่ ๑๑)- การรับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ ๑๒)- การปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการจัดการป่าอย่างยั่งยืนแก้ไขการตัดไม้ทำลายป่า และการยุติแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดินและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายที่ ๑๕)โอกาสนี้ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ได้ร่วมอภิปรายในที่ประชุมฯ เกี่ยวกับการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตร เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนมากว่า ๔๐ ปี ก่อนหน้าที่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ จะได้รับการรับรองโดยสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ อีกทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนยังได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ตลอดจนกำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อรับประกันว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นหลักการสำคัญของไทยในการจัดทำแนวนโยบายของรัฐและการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยินดีอย่างยิ่ง ที่จะร่วมแบ่งปันวิธีปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ผ่านโครงการ "SEP for SDGs partnership" เพื่อเสริมสร้างชุมชนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชุมชนในด้านการเกษตร การจัดการดินและน้ำ การจัดการป่าไม้และที่ดิน โดยยกตัวอย่างประเทศเลโซโท ที่ไทยได้ไปร่วมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำเกษตรกรรมแบบวนเกษตร เพื่อทดแทนเกษตรกรรมพืชเดี่ยว และในโอกาสนี้ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ได้เชิญชวนให้ประเทศกำลังพัฒนามาเข้าร่วมโครงการ "SEP for SDGs partnership" ของไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาต่อไปสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว วันที่ ๒ คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย พลเอก ธีรเดช มีเพียร และพลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์ เข้าร่วมประชุมซึ่งที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการพิจารณาข้อเสนอในการจัดการอภิปรายว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ และการสร้างหลักประกันต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (The role of parliaments in ending discrimination based on sexual orientation and gender identity, and ensuring respect for the human rights of LGBTI persons)ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๗ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ได้เสนอให้คณะกรรมาธิการฯ นำข้อเสนอในการจัดการอภิปรายว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ และการสร้างหลักประกันต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้หลังจากที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมฯ ได้ลงมติรับข้อเสนอในการจัดการอภิปรายหัวข้อดังกล่าวด้วยคะแนน ๓๑ ต่อ ๒๔ และคณะกรรมาธิการ จะจัดการอภิปรายว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ และการสร้างหลักประกันต่อการเคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๙ (ครั้งถัดไป) ทั้งนี้ คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอในการจัดการอภิปรายดังกล่าวด้วย |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|