วันอังคารที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานเสวนาประชาคมอาเซียนของรัฐสภา ครั้งที่ ๔
และงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียน ครั้งที่ ๗ เรื่อง "จับตาประชาคมอาเซียน สู่การประชุมสุดยอด
ผู้นำอาเซียนในปี ๒๐๑๙ ณ ประเทศไทย" โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์
ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสุภาสินี ขมะสุนทร
รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศ
เพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กล่าวต้อนรับโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา
รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวใจความตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยในฐานะที่จะเป็นเจ้าภาพ
การประชุมอาเซียนในปีหน้า มีบทบาทสำคัญที่จะนำพาอาเซียนให้ก้าวหน้า ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีความพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจสำคัญของอาเซียน ร่วมกับรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้
อย่างลึกซึ้งของอาเซียน และผลักดันความร่วมมือทางวิชาการกับอาเซียนในการประสานงานสร้างความเข้าใจ
ระหว่างนักวิชาการและประชาชนทั่วไป รวมทั้งสร้างเครือข่ายอย่างกว้างขวางเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือร่วมกัน
ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน โดยกล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้
มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องในปี ๒๐๑๙ ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
ต่ออาเซียนในการพัฒนาสามเสาหลักของอาเซียนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และร่วมมือกันผลักดันอาเซียนให้ก้าวหน้าต่อไป
และเราต้องร่วมมือกันสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแรง เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกภายใต้ความซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
จากนั้น นางสาวสุภาสินี ขมะสุนทร รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต้อนรับ
โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า รัฐสภาไทยทำงานร่วมกับรัฐสภาอาเซียนมาอย่างยาวนาน
ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งตลอดมา ในการแก้ปัญหาและสร้างความปรองดองในภูมิภาค
ในปี ๒๐๑๙ อาเซียนต้องร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาเซียนต้องเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนา
โดยเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ประเทศไทยจะต้องทำงานอย่างสอดประสาน
กับภูมิภาคอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
ประชาชนในอาเซียนต้องสามารถดำรงอยู่ไดท่ามกลางความหลากหลาย และอาเซียนต้องเป็นพันธมิตรกับองค์การต่าง ๆ
ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาบูรณาการทำร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในฐานะผู้ออกฎหมาย มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน
เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาเซียนเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างมากมาย ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งสำคัญและท้าทาย
ของประเทศไทย ในฐานะที่จะต้องดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ในปี ๒๐๑๙ ที่จะต้องเป็นผู้นำพาอาเซียนให้ก้าวข้าม
สิ่งเหล่านี้ไปให้ได้ จากนั้น ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
กล่าวว่า อาเซียนต้องก้าวไปข้างหน้า โดยจะต้องดำเนินการตามกรอบระยะเวลาต่าง ๆ ตามที่วางไว้ให้สำเร็จ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมาย อาเซียนต้องสร้างกฎหมายร่วมกัน เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว
สำหรับโครงการเสวนาดังกล่าว จัดโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันพระปกเกล้า และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
ระหว่างวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑
และในเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บทบาทของสถาบันนิติบัญญัติต่อการสนับสนุนการเป็นประธานในการประชุม
สุดยอดผู้นำอาเซียนของประเทศไทย โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
มีหน้าที่ ๓ ประการที่สำคัญ ที่เตรียมการรองรับการเป็น ประธานอาเซียน คือ
๑. ทำงานรองรับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญ
กับพรรคการเมืองทุกพรรค อย่างเท่าเทียมกัน ๒. แปลกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน
ที่บังคับใช้ในปัจจุบันให้เป็นภาษาไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับทุกฝ่าย ๓.ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยการจัดอบรมให้ความรู้กับประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ |