วันอังคารที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนาประชาคมอาเซียนของรัฐสภา ครั้งที่ ๔ และงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียน
ครั้งที่ ๗ นางสาวสุภาสินี ขมะสุนทร รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และศาสตราจารย์ประภัสสร์ เทพชาตรี
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนาเรื่อง "บทบาทของสมาชิกรัฐสภา
ในการเผชิญกับความท้าทายในการจัดระเบียบโลกใหม่" ดำเนินรายการโดยนางแซนดร้า หาญอุตสาหะ
ผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษ รายการ Parliament Newsroom สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา
นางสาวสุภาสินี ขมะสุนทร รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกรัฐสภา
ในการส่งเสริมอาเซียนในอนาคตว่า ต้องใช้จุดแข็งของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการทำงาน
ประสานกันเป็นทีมกับหน่วยงานภายนอกและเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคมและวัฒนธรรม
สร้างความเข้าใจในความซับซ้อน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเข้าไปร่วมในประเด็นทางสังคม เช่น
การเข้าไปช่วยเหลืออุบัติภัยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจุดแข็งของสมาชิกรัฐสภา คือการนำ
ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกไปสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน
การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป และเน้นการเชื่อมโยงในประชาคมอาเซียนระหว่างรัฐสภากับประชาชน
เพราะรัฐสภาเป็นองค์กรที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐสภาและประชาชน ซึ่งรัฐสภาต้องสร้างสมดุลในประเด็นดังกล่าว
โดยปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชน คือยุวชนประชาธิปไตย
ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และเผยแพร่ความเป็นประชาคมอาเซียนไปสู่ชุมชนและสังคม สร้างสมดุล
ในอำนาจสร้างความเป็นประชาชนอาเซียน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป
ด้านศาสตราจารย์ประภัสสร์ เทพชาตรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้กล่าวถึงอาเซียน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ๑๙๖๗ ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียน
รองจากสหภาพยุโรป อาเซียนมีประชากรกว่า ๖๐๐ ล้านคน และเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความสำคัญ
ต่อทุกประเทศในภูมิภาคนี้ โดยประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ๓ เสาหลัก คือ
๑. ประชาคมเศรษฐกิจ โดยมีความสำคัญมาก เป้าหมายคือ ต้องพยายามทำให้อาเซียน
เป็นตลาดเดียว เป็นพื้นฐานการส่งออกทั้งทางด้านสินค้าและบริการ อาเซียนมีแผนที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐาน
เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกกับทั่วโลก เชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
ซึ่งการขนส่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในอาเซียนและอาเซียนต้องพยายามปฏิรูปตัวเอง
เพื่อเติบโตไปสู่การเป็นอาเซียน ๔.๐ เป็นศูนย์กลางทางด้านเกษตรกรรม สุขภาพ ดิจิตัล การบริการ แรงงาน
และนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็น ๔.๐ ได้สำเร็จ
๒. ประชาคมการเมืองและความมั่นคง มีเป้าหมายคือ พัฒนาทางด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน
และการป้องกันข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ
๓. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม มีเป้าหมายคือ พัฒนาด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน
ทั้งนี้ ความท้าทายของการจัดระเบียบโลกใหม่ต่ออาเซียน มี ๒ ส่วน คือ ความท้าทายภายนอกและภายใน
โดยความท้าทายภายนอกที่อาเซียนต้องเผชิญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบโลกอย่างรวดเร็ว
การเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนและอินเดีย ข้อขัดแย้งทางศาสนา และข้อขัดแย้ง
ทางภูมิภาค และต้องปรับตัวเพื่อให้อาเซียนสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ส่วนความท้าทายภายในที่อาเซียน
ต้องเผชิญ คือ ข้อขัดแย้งทางการเมือง ข้อขัดแย้งเรื่องชายแดน รวมถึงความไม่เชื่อใจกันในสมาชิกอาเซียน โดยประเทศ
ในอาเซียนต้องเป็นหุ้นส่วนกันมิใช่เป็นคู่แข่ง และต้องพยายามลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ต้องเป็นตลาดเดียว
มีการเปิดเสรีทางการค้าอย่างสมบูรณ์ มีเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน และต้องสร้างอัตลักษณ์อาเซียนร่วมกัน
นี้คือเป้าหมายที่อาเซียนต้องทำให้ได้ เพื่อต่อสู้กับความท้าทาย และเพื่อความเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำในทุกด้าน
|