วันพฤหัสบดีที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา
ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในงานเสวนาประชาคมอาเซียนของรัฐสภา ครั้งที่ ๔ และงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียน
ครั้งที่ ๗ มีการบรรยายเรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs : Sustainable Development Goals
โดย Dr. Nagesh Kumar, Director of Social Development Division, United Nations Economic
and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น
มีความสำคัญทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน และมีหลายเรื่องที่ต้องเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ
ของกลุ่มอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญทั้งสิ้น ๑๗ เป้าหมาย
และผลการประเมินที่ประสบความสําเร็จคือเรื่องการลดความยากจนซึ่งบางประเทศมีความก้าวหน้ามาก
โดยลดลงกว่าร้อยละ ๕๐ ทั้งนี้ เราจะต้องพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น ชนกลุ่มน้อย หรือ
ประชาชนในชนบท จะต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกของ SDGs
อย่างไรก็ตาม ในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า เราจะต้องขจัดความยากจนให้หมดไป และเพิ่มการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน
ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ รวมทั้งจะต้องเพิ่มงานให้กับคนหนุ่มสาว
ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่แต่ละประเด็นนั้นมีความเชื่อมโยงกัน โดยสิ่งที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันจึงจะสำเร็จ
สำหรับเรื่องการเงิน การค้า และการลงทุนนั้น จะต้องมีการทบทวนการดำเนินการอยู่เสมอ
โดยปัจจัยที่มีความท้าทายคือการออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และจากการประเมินพบว่า
ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค มีการเจริญเติบโตเร็วที่สุด ตั้งแต่ปี ๑๙๙๐ เมื่อกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกัน
ทางรายได้เกิดจากคนรวยมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคนจนก็ยังจนอยู่ทำจึงให้เกิดช่องว่างมากขึ้น
ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการศึกษานั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทย และอินโดนีเซีย สามารถดำเนินการได้ดี
เด็กๆ ในชนบทเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับเรื่องพลังงานสะอาดนั้น การดำเนินการยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร
ดังนั้น เราจะต้องพัฒนากันต่อไป ในส่วนของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพัฒนา
เพื่อให้มีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศที่ทำได้ดี เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สำหรับการว่างงานของคนหนุ่มสาวนั้น
จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ส่วนเรื่องผู้สูงอายุในอาเซียนนั้น มีสัดส่วนของประชากรเพิ่มเป็นร้อยละ ๒๕
จึงจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ ทั้งในเรื่องรายได้ และการประกันสุขภาพด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ที่ดูแลนโยบาย
ของแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก ความท้าทายของ SDGsมีจำนวน ๖ เรื่อง ได้แก่
เรื่องการสร้างงาน การส่งเสริมความมั่นคง ของมนุษย์ การศึกษา การเข้าถึงพลังงานสะอาด
และการเท่าเทียมกันทางเพศ โดยเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วม การทำงานของสตรีให้มากขึ้น
ส่วนเรื่องเศรษฐกิจนั้น จะต้องพัฒนาให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับเยาวชนจะต้องมีมาตรการในการดูแลและปกป้องคนกลุ่มนี้ รวมถึงแรงงานข้ามชาติก็ต้องได้รับการดูแลด้วย
|