"ปีหน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน" นางพิไลพรรณ สมบัติศิริกรรมาธิการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงและ วิทยุโทรทัศน์รัฐสภาถึงการทำหน้าที่ผู้แทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนว่า ตนเองได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คณะผู้แทนไทย และเป็นผู้แทนในการประชุมคณะกรรมาธิการต่าง ๆ เช่น ด้านกิจการสตรีสมัชชารัฐสภาอาเซียน การประชุม AIPA เป็นเวทีของ ๑๐ ประเทศที่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ชายแดน การพูดคุยระหว่างอาเซียนทำให้มีความง่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลายท่านที่เดินทางมาเป็นคณะผู้แทนในครั้งนี้ ล้วนมีประสบการณ์ หลายท่านเคยเข้าร่วมประชุมสหภาพรัฐสภา (IPU) การที่อาเซียนใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาทางการ ทำให้เราสื่อสารกันง่ายขึ้น ในขณะที่การประชุมของยุโรปที่ยังมีภาษาอื่น ๆ การเป็นอาเซียนมีความใกล้ชิด แน่นแฟ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนในอาเซียน การเข้าถึงระหว่างรัฐสภากับประชาชนนอกจากนี้ นางพิไลพรรณ ยังให้คำแนะนำสำหรับ การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่า ควรมีการจัดอบรมข้าราชการ การให้ความรู้แก่สมาชิกรัฐสภา ผู้ที่ทำหน้าที่คณะผู้แทนไทย ต้องรู้ว่าความแตกต่าง หรือความเหมือนระหว่างการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) กับการประชุมสหภาพรัฐสภา (IPU) โดยเฉพาะทักษะในเรื่องภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างประธานรัฐสภาสาธารณรัฐสิงคโปร์ว่า มีความรู้ความสามารถ คุมสถานการณ์ได้ดี ถ้าหากประธานมีความเข้มแข็งจะทำให้การประชุมราบรื่น ส่วนประเด็นที่ประเทศไทยจะหารือกันนั้นก็จะมีความต่อเนื่องจากการประชุม ครั้งที่ ๓๙ ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ การพูดคุยเรื่องการค้าชายแดน เรื่องเศรษฐกิจ อีกทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รัฐบาล และรัฐสภาต้องช่วยกัน ในฐานะที่เป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน และประธานอาเซียน เราต้องเป็นเจ้าบ้าน หรือ Host ที่ดี เอาเรือง "ไทยนิยมยั่งยืน"สู่สากล ซึ่งเชื่อว่าไม่เกินความสามารถของคนไทย ประชาชนทุกคนสามารถสร้างสัมพันธ์และเป็นพันธมิตรกับประเทศอื่น ในเรื่องที่จำเป็นต้องผลักดัน ให้กิจการต่าง ๆดำเนินไป เพื่อให้ไทยและเพื่อนบ้านประสบผลสำเร็จ มิตรภาพทำให้เรื่องยาก เป็นเรื่องง่าย การเจรจาง่ายขึ้น ซึ่งเราต้องมีความรู้ มีคุณธรรม ในตอนท้าย นางพิไลพรรณ กล่าวว่า เราต้องเร่งปลูกฝังเรื่องภาษา การให้ความรู้แก่สมาชิกรัฐสภาที่จะทำหน้าที่นี้ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมที่จะสืบสานงานและส่งมอบให้กับสมาชิกรัฐสภาใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง ทั้งการช่วยเตรียมงาน การเป็นพี่เลี้ยงที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และประการสำคัญที่สุด คือ สมาชิกรัฐสภาต้องการแสดงจุดยืนในเชิงบวก ตลอดจนระมัดระวังการใช้คำพูด ที่เป็นมิตรในเวทีระหว่างประเทศ เพราะเราคือ ตัวแทนของประเทศไทย |