วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ ๑๓.๐๐ นาฬิกา ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติ (CICG) นครเจนีวา
สมาพันธรัฐสวิส สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ในฐานะกรรมาธิการ
ในคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลังและการค้า พร้อมด้วยนายศักดิ์ทิพย์
ไกรฤกษ์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การคลังและการค้า
โอกาสนี้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ได้กล่าวอภิปรายในหัวข้อ บทบาทของการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรม
และเสรีเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ระบบโครงสร้าง
พื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (The role of fair and free trade and investment in achieving
the SDGs, especially regarding economic equality, sustainable infrastructure, industrialization and
innovation) ว่า ไทยสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าพหุภาคี และการลงทุนภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก
(WTO) ปัจจุบันไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้ จำนวน ๑๒ ฉบับ และอยู่ระหว่างเจรจา
กับประเทศคู่เจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไทยมีโครงการพัฒนาระบบ
รถไฟความเร็วสูงและท่าเรือน้ำลึกเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาค
รวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบพระราชบัญญัติ
(พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมและจัดตั้ง
สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการ
จัดทำนโยบายและกฎหมายเพื่อรองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลันและ
เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเตรียมไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
และฐานคุณค่าและก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่และธุรกิจเกิดใหม่บนฐาน
นวัตกรรม โดยให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาตลาดและยังจัดวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อให้
บริการประชาชนในหมู่บ้านห่างไกลกว่า ๓ ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าไทยได้รับการจัดลำดับ ดัชนีนวัตกรรมโลก
ปี ๒๕๖๑ อยู่ในลำดับที่ ๔๔ จาก ๑๒๖ ประเทศ มีการจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าการค้าสินค้าออนไลน์ของผู้ประกอบการชุมชนเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ รวมทั้งโครงการทุน
บูรณาการเพื่อความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยมีตนเป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์
เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาต่อยอด คัดเลือก บ่มเพาะและจัดสรรทุนสนับสนุนผลงานวิจัยที่มีศักยภาพให้ไปสู่เชิง
พาณิชย์ได้สำเร็จทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยได้มีข้อเสนอเพื่อส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมาย
ที่ ๙ คือ ๑) ต้องให้ความสำคัญในการร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในการจัดทำนโยบายและกฎระเบียบ
ทางดิจิทัลที่เป็นสากล รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยขอเสนอให้
สหภาพรัฐสภาจัดทำแนวปฏิบัติด้านนโยบายและการกำกับดูแล (Policy and Regulartory Framework)
ด้าน Fintech และระบบการชำระเงิน (Payment System) ทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ด้าน Blockchain Technology และ Cryptocurrency ๒) ส่งเสริมให้มีการถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยี
ความช่วยเหลือทางการเงิน และการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วย
ส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรมและ ๓) สมาชิกรัฐสภาต้องมีบทบาทหลักในการ
พัฒนากฎหมายเพื่ออำนวยให้การค้าและการลงทุนที่เสรีและเป็นธรรมในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับ
ทราบข้อมูลการเตรียมการเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาในโอกาสการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๔ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ เมืองคราคูฟ
ประเทศโปแลนด์ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมด้วย
|