วันอังคารที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติ CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำคณะผู้แทน ไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓๙ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ เป็นวันที่สามโดยการประชุมสมัชชา (Assembly) เริ่มขึ้นตั้งแต่ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ซึ่งที่ประชุม ได้ร่วมกันอภิปราย หัวข้อ "Climate change: let us not cross the line " เพื่อนำผลการอภิปรายไปจัดทำร่างข้อมติ ระเบียบวาระเร่งด่วนเสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับรองต่อไป
ต่อมาในเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา เป็นช่วงของการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ภายใต้หัวข้อ "บทบาทนำของรัฐสภาในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนา ในยุคแห่งนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี" (Parliamentary leadership in promoting peace and development in the age of innovation and technological change) ซึ่งในช่วงเช้ายังคงเป็นการกล่าวถ้อยแถลง ของหัวหน้าคณะระดับประธานรัฐสภาที่ต่อเนื่องมาจากวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
จากนั้น ในเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามคณะผู้แทนรัฐสภาไทย สรุปใจความสำคัญได้ว่า ในขณะที่กระแสการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของโลกกำลังก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประเทศไทยจำเป็นต้อง ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการกำหนดนโยบาย "ประเทศไทย ๔.๐" (Thailand 4.0) ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของไทย ให้เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (innovation-based economy) ที่ใช้อุตสาหกรรมใหม่ ขับเคลื่อน อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน แมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และนาโน เทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึง เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัล (Digital economy) อย่างเต็มตัวในปี ๒๕๗๐ โดยนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่จัดทำภายใต้หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนา (R&D) ในฐานะเป็นวาระสำคัญลำดับต้นของชาติ โดยรัฐ ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มงบประมาณด้าน R&D ให้ถึงร้อยละ ๒ ของ GDP ของประเทศภายในปี ๒๕๗๕ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สำหรับบทบาทของภาครัฐสภาในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเพื่อวางรากฐานที่สำคัญในการรองรับ ยุทธศาสตร์ "Thailand 4.0" อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริม การลงทุน ฉบับแก้ไข ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๖๐ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๑ และ พ.ร.บ. เพิ่มความสามารถในการ แข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งกำหนด มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ มาตรการ จูงใจด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึง กองทุนส่งเสริมการพัฒนา R&D ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติ แห่งชาติ เชื่อมั่นว่า วทน. คือหัวใจของการพัฒนาประเทศ และรัฐสภา มีหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการส่งเสริมผลักดันให้เกิดนวัตกรรม เพื่อยกระดับ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม และนำพาประเทศ ไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน
เครดิต : ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การ รัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |