เมื่อวันพุธที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ ๑๐.๓๐ นาฬิกา ณ ห้อง ๒ ชั้น ๐
ศูนย์การประชุมนานาชาติ CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี และพลอากาศเอก ธงชัย
แฉล้มเขตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการอภิปรายที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
(Parity Debate) ซึ่งจัดขึ้นโดยสหภาพรัฐสภาสตรี ในโอกาสการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา
ครั้งที่ ๑๓๙ ภายใต้หัวข้อ การรับประกันว่าเด็กทุกคนมีสิทธิและเติบโตโดยได้รับการคุ้มครอง
ให้ปลอดภัยจากความรุนแรง (Ensuring that all children enjoy their rights and grow up
protected from violence) โอกาสนี้ นางสุวรรณีฯ ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทย
ให้ความสำคัญกับประเด็นของเด็ก เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ ประเทศไทยได้ประกาศใช้
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการดูแลและมีโอกาสในการเติบโต
กฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพของสถาบันครอบครัว อีกทั้งปกป้องเด็กจากการถูกแสวงหา
ประโยชน์โดยมิชอบหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้กำหนดคำนิยามว่า เด็ก
หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้
ผู้ปกครองของเด็กทอดทิ้งหรือละทิ้งเด็กไว้ในสถานที่ใด ๆ หรือไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ
ของเด็ก ห้ามผู้อื่นกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ให้เด็กไปเป็นขอทาน
ใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด แสวงหาประโยชน์ทางการค้าจากเด็ก พาเด็กเข้าไปใน
สถานที่เล่นการพนัน หรือแม้แต่การยื่นบุหรี่ให้แก่เด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
ผู้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้จะต้องระวางโทษจำคุกหรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
ผู้ใดครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ ส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก
แก่ผู้อื่น แจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชนเพื่อความประสงค์แห่งการค้า จะต้องระวางโทษจำคุก
หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วย
สิทธิเด็ก กฎหมายที่คุ้มครองเด็กอีกฉบับคือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
ซึ่งมุ่งคุ้มครองเด็กในฐานะที่เป็นสมาชิกในครอบครัวจากการกระทำที่รุนแรงในครอบครัวหรือการปฏิบัติ
ที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยยังกำหนดให้รัฐพึงจัดทำงบประมาณโดยคำนึงถึงมิติ
หญิงชาย และความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่ม ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยให้การจัดสรร
งบประมาณสามารถครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสมาตรการและ
เครื่องมือทางกฎหมายต่าง ๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
ต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของเด็กที่ขยายไปสู่สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า
เขาจะเติบโตและมีพัฒนาการโดยไม่ได้รับอันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจ และขอขอบคุณสหภาพรัฐสภา
ที่ได้จัดการอภิปรายที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในประเด็นนี้เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า จึงเป็นหน้าที่
ของเราทุกคนที่ต้องปกป้องพวกเขา
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|