เมื่อวันพุธที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติ CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมสมัชชา (Assembly) ตลอดทั้งวัน โดยในช่วงเช้า ยังคงเป็นการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ในหัวข้อ บทบาทนำของรัฐสภาในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากนั้น ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้พิจารณารับรอง ข้อมติระเบียบวาระเร่งด่วน (emergency item) ในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในช่วงเย็น ที่ประชุมได้ร่วมกันลงมติเพื่อตัดสินว่า ที่ประชุมสมัชชาจะเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภา ว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จัดการอภิปรายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิของ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) หรือไม่ ซึ่งคณะผู้แทนไทยได้ร่วมลงมติด้วย และผลปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้มีการจัดการอภิปรายดังกล่าว ต่อมา ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ คณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมเป็นวันสุดท้าย โดยที่ประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) ได้พิจารณาวาระต่าง ๆ ที่ค้างการพิจารณา จากวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ ได้แก่ การพิจารณารับสาธารณรัฐคิริบาติ เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ สหภาพรัฐสภา จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาสถานการณ์ของรัฐสภาสมาชิกบางประเทศที่สหภาพรัฐสภา เฝ้าติดตาม ทั้งหมด ๗ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ในการนี้ เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ได้รายงาน ให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดของไทย หลังจากที่เลขาธิการสหภาพรัฐสภา ได้พบปะหารือกับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ รวมถึงบรรยากาศ ที่ผ่อนคลายมากขึ้นสำหรับพรรคการเมืองในการดำเนินการด้านธุรการและการทำกิจกรรมทางการเมือง ได้มากขึ้นตามลำดับ เพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง รวมถึง การเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนสามารถ นำเสนอข่าวสารได้อย่างมีอิสระมากขึ้น ตลอดจน ขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำลังดำเนินการ แบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยในช่วง ๑๕๐ วัน หลังจาก พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป ทั้งนี้ กรอบกำหนดเวลาจัดการเลือกตั้งจะอยู่ระหว่าง วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ - ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งสหภาพรัฐสภาได้แสดงความยินดีกับประเทศไทย และ สนช. ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ ตามโรดแมปประชาธิปไตยและสหภาพรัฐสภาจะรอต้อนรับรัฐสภาไทยชุดใหม่ ที่หวังว่าจะส่งคณะผู้แทน เข้าร่วมการประชุมสมัชชาในครั้งต่อไป จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณารับรองการวินิจฉัยกรณีข้อร้องเรียน การละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา ที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๒ ประเทศ โดยมี ประเทศอาเซียน ๓ ประเทศคือ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณารับรองการ แก้ไขธรรมนูญสหภาพรัฐสภา และรับรองรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งทดแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ของสหภาพรัฐสภา ที่ว่างลง โดยเฉพาะตำแหน่งในคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ๓ ตำแหน่ง ที่ตกเป็นของ ซอร์เบีย และจีน อนึ่ง ที่ประชุมได้รับรองกำหนดการจัดการประชุมสมัชชาครั้งที่ ๑๔๐ ในเดือนเมษายน ๒๕๖๒ และ การประชุมสมัชชา ครั้งที่ ๑๔๑ ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ และ กรุงเบลเกรด สาธารณรัฐเซอร์เบีย ตามลำดับ ในช่วงท้ายของการประชุมสมัชชา ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ การประชุมในหัวข้อหลักว่าด้วยบทบาทนำของรัฐสภาในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และร่างข้อมติว่าด้วยการจัดระเบียบการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ รวมถึง รับทราบสรุปรายงานการประชุม ของคณะกรรมาธิการสามัญ ๓ คณะ โดยปิดการประชุมสมัชชา เมื่อเวลา ๑๘.๑๕ นาฬิกา หลังจากประธาน กลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ ทั้ง ๖ กลุ่ม และประธานสหภาพรัฐสภา กล่าวปิดประชุม
เครดิต : ภาพและข่าว โดย: กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|