เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๓๐ - ๑๓.๐๐ นาฬิกา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ กรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และ พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วม การประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ ๒๙ (The 29th Session of Forum of Women Parliamentarians) ณ ห้อง Al Rayyan ศูนย์ประชุมเชอราตัน กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในการนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ได้ร่วมอภิปรายในมุมมอง หญิงชายต่อร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วย การพัฒนาที่ยั่งยืนการคลังและการค้า เรื่อง บทบาทของการค้าและ การลงทุนที่เป็นธรรมและเปิดเสรีในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยเฉพาะในด้านความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ยั่งยืนว่า เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม ในมิติหญิงชายในภาคการค้าและการลงทุนที่ผู้หญิงจะเข้ามามีส่วนร่วม มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาคการค้าและการลงทุนมักมีผู้ชายเป็นหลัก โดยขอเสนอ ๖ วิธีการที่จะส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และทำให้ผู้หญิง เข้ามามีส่วนร่วมในภาคการค้าและการลงทุนมากขึ้น (Fairtrade) ดังนี้ ๑. การกำหนดมาตรฐานที่ไม่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติมาตรฐานของ การค้าที่เป็นธรรมจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์พื้นฐานของระบบทางการค้า โดยมาตรฐานดังกล่าวควรสร้างกระบวนการตัดสินใจแบบประชาธิปไตย ที่สนับสนุนสตรีให้สตรีมีสิทธิมีเสียงในชุมชนหรือที่ทำงาน ๒. การฝึกให้สตรีเป็นผู้นำ ให้มีการอบรมและพัฒนาโดยให้สตรีได้ทำงาน ในองค์กรการค้า และสร้างสตรีให้มีทักษะทางด้านธุรกิจการเงิน การเจรจา และการตัดสินใจ ๓. ให้มีหลักประกันการลงทุนเริ่มแรกในระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนโครงการ ของสตรี ๔. การที่บทบาทของสตรีในด้านการเกษตรมีมากขึ้นแต่สตรีกลับเข้าถึง ทรัพยากรการผลิตได้น้อยลงการค้าที่เป็นธรรมจะช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่าง ระหว่างเพศนี้ได้โดยการทำให้สตรีเป็นเจ้าของทรัพยากรเพื่อดำเนินการ ในภาคการเกษตรได้
๕. การค้าที่เป็นธรรมจะช่วยเลิกล้มความคิดแบบเหมารวมของคำว่า งานของสตรี รวมถึงความคิดในแบบเดิม ๆ ที่ไม่ให้สตรีมีสิทธิในทรัพย์สิน และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชนของตน
๖. การพัฒนาการเข้าร่วมเพื่อทำให้ความไม่เท่าเทียมหมดไปโดยมีความเป็น ธรรมในการค้ามีการทำงานร่วมกับภาคผู้ผลิตองค์กรภาคการค้าองค์กร ภาคการพาณิชย์องค์กรภาคสังคมและนักวิชาการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดัน สิทธิของคนงาน การส่งเสริมอำนาจและสิทธิทางเศรษฐกิจให้แก่สตรีจะช่วย ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หลายเป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ ๑, ๘, ๙ และเป้าหมายที่ ๑๖ อีกด้วย
เครดิต : ภาพและข่าวโดย สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|