วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์การประชุม Sheraton Convention Center
กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย
นายกิตติ วะสีนนท์ หัวหน้าคณะผู้แทนฯ เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา
ครั้งที่ ๑๔๐ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นวันที่สอง โดยในช่วงเช้า
เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา ณ ห้อง Al Dafna โดยคณะผู้แทนฯ
ได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา (Governing Council)
สมัยที่ ๒๐๔ โดยมี นางสาว Gabriela Cuevas Barron ประธานสหภาพรัฐสภา
และนาย Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภาทำหน้าที่
ประธานและเลขานุการของที่ประชุมตามลำดับ ในการนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ
ความประสงค์ของประเทศ St. Vincent and the Grenadines ในการสมัครเข้า
เป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพรัฐสภา ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับหลัก universal
membership ของ IPU
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๔ ได้แก่ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสมาชิกภาพ
และสถานการณ์ของประเทศสมาชิกบางประเทศที่ IPU เฝ้าติดตาม รวม ๑๓ ประเทศ
รวมถึงประเทศไทยด้วย ในการนี้ เลขาธิการ IPU ได้รายงานให้ที่ประชุม
ได้รับทราบถึงพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดของไทย ที่ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว
เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของไทยในการกลับ
สู่วิถีทางประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดย IPU ได้รับหนังสือ
จากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติระบุว่าจะมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง
อย่างเป็นทางการ โดย กกต. ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ และจะมีรัฐสภาชุดใหม่
ตลอดจน มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จในราวเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒
ซึ่งที่ประชุมรับทราบด้วยความยินดี
ทั้งนี้ เลขาธิการ IPU ระบุว่าพัฒนาการดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ IPU
ได้มีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับ สนช. และ IPU มีความยินดีที่จะต้อนรับรัฐสภาชุดใหม่ของ
ไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔๑ ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงเบลเกรด
สาธารณรัฐเซอร์เบีย
ต่อมา วาระการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔๐
ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา โดยที่ประชุมสมัชชาฯ
ได้เริ่มต้นการอภิปรายภายใต้ หัวข้อหลัก "รัฐสภาในฐานะเวทีส่งเสริมการศึกษา
เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงและหลักนิติธรรม" (Parliaments as platforms to
enhance education for peace, security and the rule of law)
โดยในวันนี้จัดสรรเวลาเฉพาะสำหรับการกล่าวถ้อยแถลงของผู้ดำรง
ตำแหน่งประธานรัฐสภาในช่วงท้ายของการประชุมสมัชชาฯ
ที่ประชุมได้พิจารณาเลือกหัวข้อที่จะบรรจุเป็นระเบียบวาระเร่งด่วน
(Emergency Item) ด้วยการลงคะแนนเสียงแบบขานชื่อประเทศทีละประเทศ
(roll-call vote) เพื่อเลือกระหว่าง ๒ หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อการเรียกร้องความช่วยเหลือ
ด้านมนุษยธรรมให้แก่ประเทศแอฟริกาที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลน Idai
เสนอโดยเนเธอร์แลนด์ กับหัวข้อที่เสนอร่วมกันโดย ๔ ประเทศมุสลิม
ประกอบด้วยอินโดนีเซีย โมร็อกโก คูเวต และตุรกี ว่าด้วยกรณีปาเลสไตน์
และการปกป้องชนกลุ่มน้อยมุสลิมทั่วโลก โดยคณะผู้แทนไทยได้ร่วมลงคะแนนเสียง
ในการนี้ด้วย โดยผลปรากฎว่าหัวข้อของเนเธอร์แลนด์ชนะไปด้วยคะแนนเสียง ๑,๐๑๑
ต่อ ๔๙๑ คะแนน และได้รับเลือกให้เป็นหัวข้อระเบียบวาระเร่งด่วนของ
การประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาในครั้งนี้
|