เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.00 22.00 นาฬิกา (ตามเวลาประเทศไทย) นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี(Bureau of Women Parliamentarians) และผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสหภาพรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 31 เป็นวันที่หนึ่ง ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมประชุมด้วย การประชุมครั้งนี้มีนาย Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา กล่าวเปิดการประชุม และนางสาว S. Kihika ประธานกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี ดำเนินการประชุม ที่ประชุมรับฟังรายงานผลการเสวนาเชิงยุทธศาสตร์รัฐสภาระหว่างประเทศ (Strategic Inter-parliamentary Dialogue) หัวข้อ การฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่คำนึงถึงมิติทางเพศ ที่สหภาพรัฐสภาจัดขึ้นร่วมกับองค์กรเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7, 14 และ 21 เมษายน 2564 โดยนางสุวรรณีฯ ได้ร่วมกล่าวรายงานของวันที่ 21 เมษายน 2564 ในหัวข้อ รัฐสภาและการปฏิรูปกฎหมายที่คำนึงถึงมิติทางเพศ (Gender-sensitive parliaments and gender-responsive legal reforms) ต่อที่ประชุมว่า การประชุมเรื่องรัฐสภาและการปฏิรูปกฎหมายที่คำนึงถึงมิติทางเพศ มีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมจำนวน 61 คน โดยมีวิทยากรจากทั้งสหภาพรัฐสภา องค์กรเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และ CEDAW รัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศจะตั้งอยู่บนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยรัฐสภาจะเป็นผู้นำสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศนี้ในทุกมิติของการทำงานและการทำหน้าที่ของรัฐสภา จัดให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อทั้งหญิงและชายในการที่จะมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างหลักประกันถึงการตอบสนองแก้ไขปัญหาและการเยียวผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเหมาะสม ในการสร้างสังคมที่ให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัตินั้น มีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกฎหมายทั้งหมดที่เป็นอุปสรรคต่อสตรีและในทางกลับกันให้ส่งเสริมกฎหมายและงบประมาณที่เสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิง ปัจจุบัน ผู้หญิงและเด็กหญิง 2.5 พันล้านคนยังคงได้รับการถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายในประเทศของพวกเขา ด้วยเหตุนี้รัฐสภาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กฎหมายและนโยบายที่คำนึงถึงมิติทางเพศ และสร้างหลักประกันว่ารัฐสภาจะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพียงพอ โดยจากการอภิปราย ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ มากมาย สามารถสรุปได้ว่าการสร้างกระบวนการด้านรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศจะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ สร้างความมั่นใจว่าผู้หญิงจะเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในกระบวนการบัญญัติกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 ด้วย สนับสนุนการสร้างการรวมกลุ่มทางรัฐสภาของสตรีที่มาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และสนับสนุนการทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีต่าง ๆ จากภาคประชาสังคม ให้คณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาทุกคณะได้ดำเนินการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและสร้างความมั่นใจว่าคณะกรรมาธิการทุกคณะนั้นมีขีดความสามารถในการดำเนินการดังกล่าวด้วย ให้มีอำนาจในการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศและกำหนดให้รัฐจัดทำข้อมูลจำแนกเพศเพื่อที่รัฐสภาจะสามารถติดตามสอดส่องผลกระทบของกฎหมายและนโยบายได้อย่างเหมาะสมและทำการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตามที่เห็นจำเป็น
การปฏิรูปกระบวนการด้านรัฐสภาจะต้องใช้เจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็งรวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญทุกฝ่าย ผู้นำรัฐสภาหลายท่านได้ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการภายในประเทศตามแผนปฏิบัติการสำหรับรัฐสภาที่คำนึงถึงมิติทางเพศที่จัดทำโดยสหภาพรัฐสภาแล้ว รวมทั้งมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบการประเมินตนเองที่เกี่ยวข้องอันรวมถึงภายหลังการระบาดของโควิด-19 ด้วยแล้ว จึงขอให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านได้ร่วมกันผลักดันการตรวจสอบและการปฏิรูปด้านมิติทางเพศในรัฐสภาของท่านเพื่อที่จะได้เป็นไปตามความคาดหวังและความต้องการของผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศของท่าน เราจะต้องทำเพื่อพวกเขาเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้พวกเขา
นอกจากนี้ นางสุวรรณีฯ ยังได้กล่าวอภิปรายในมุมมองมิติหญิงชายต่อร่างข้อมติเรื่อง การออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ (Legislation worldwide to combat online sexual child exploitation) ว่า ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาเด็กเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา กำหนดความผิดอย่างชัดแจ้งว่าการครอบครองและการแจกจ่ายสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นสิ่งต้องห้าม ยิ่งหากกรณีกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้าด้วยแล้ว ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษหนักขึ้น อย่างไรก็ดี ตนขอเสนอความเห็นว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดหากเราจะเสนอให้มีการระบุลงไปในข้อมติ ให้ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาเด็กได้พิจารณาออกกฎหมายในการแจ้งให้สังคมรับรู้เมื่อผู้กระทำความผิดพ้นโทษแล้วเพื่อให้สังคมได้รับทราบและระมัดระวัง ทั้งนี้เนื่องจาก บางคนกล่าวว่าผู้กระทำความผิดฐานนี้มีปัญหาทางด้านจิตใจ แต่ตนเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิผล จึงอยากเรียกร้องเพื่อนสมาชิกได้ร่วมพิจารณา ทั้งนี้ อาจมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เนื่องจากมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษนั้น ตนจึงอยากฟังความคิดเห็นของที่ประชุมแห่งนี้ว่าสิ่งใดสำคัญกว่าระหว่างสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิดกับการคุ้มครองความปลอดภัยในสังคม
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |