เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.00 21.00 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (Executive Committee) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการเงิน (Sub-Committee on Finance) ของสหภาพรัฐสภาผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom โดยมีอนุกรรมาธิการฯ เข้าร่วมการประชุม 3 คน จากสวีเดน ชิลี และไทย รวมถึง Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการฯ
Ms. Cicilia Widegren สมาชิกรัฐสภาสวีเดน ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณและการบัญชีภายในสหภาพรัฐสภา อาทิ 1) รายงานการเงิน ประจำปี 2563 (Financial Results for 2020) 2) รายงานของผู้สอบบัญชีภายนอก โดยสำนักงานผู้ควบคุมและตรวจสอบบัญชีแห่งอินเดีย (Office of the Comptroller and Auditor General of India: CAG) เกี่ยวกับรายงานการเงิน ประจำปี 2563 (Auditors Report) 3) สถานะทางการเงินของสหภาพรัฐสภา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 (Financial Situation of the IPU at 31 March 2021) 4) การระดมเงินทุนโดยความสมัครใจ (Mobilization of Voluntary Funding)
เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงเอกสารต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งได้นำเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ในขั้นตอนแรก ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (Executive Committee) เพื่อเสนอแนะต่อคณะมนตรีบริหารสหภาพรัฐสภา (Governing Council) เพื่อรับรองในขั้นตอนสุดท้าย ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณลดน้อยลงเนื่องจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานะทางการเงินของสหภาพรัฐสภา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมถึงการรายงานสถานะของการชำระค่าบำรุงสมาชิก (Contributions) จากประเทศสมาชิก ซึ่งพบว่ายังมีประเทศจำนวนหนึ่งที่ยังค้างชำระ รวมถึงรับทราบรายงานความคืบหน้าของการระดมเงินทุนโดยความสมัครใจ ที่สหภาพรัฐสภาได้รับความช่วยเหลือในรูปของเงินสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ อาทิ โครงการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Partnership Programme) โครงการเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นต้น ที่ประชุมได้รับทราบและเห็นชอบให้นำเอกสารต่าง ๆ ข้างต้น เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภาต่อไป
โอกาสนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสถานะของการชำระค่าบำรุงสมาชิกจากรัฐสภาสมาชิก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าเพื่อเป็นองค์กรที่มีรัฐสภาสมาชิกครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก (Universal membership) และเห็นควรที่สำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาจะหาทางออกที่เหมาะสมและยื่นมือประสานงานกับประเทศที่ยังค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกเป็นกรณีไป ทั้งนี้ ต่อความเห็นของไทย เลขาธิการสหภาพรัฐสภายืนยันว่าสำนักงานฯ จะติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รัฐสภาสมาชิกที่ค้างชำระเกิน 2-3 ปีติดต่อกัน จะสูญเสียสิทธิความเป็นสมาชิก รวมถึงถูกระงับสมาชิกภาพ จึงเห็นด้วยที่จะพิจารณาข้อติดขัดของประเทศต่าง ๆ เป็นกรณีไป
อนึ่ง ที่ประชุมยังได้รับทราบแผนงานของการจัดทำยุทธศาสตร์สหภาพรัฐสภา ปี 2022-2026 ซึ่งมีกรอบเวลาในการปรึกษาหารือเรื่องดังกล่าวกับคณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ จากนั้น จะได้นำเสนอประเด็นหลักของร่างยุทธศาสตร์ฯ ต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ในเดือนกรกฎาคม ศกนี้ เพื่อพิจารณางบประมาณและบูรณาการแผนงานให้สอดคล้องกันต่อไป
เครดิต : ภาพและข่าว โดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |