เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 19.00-20.30 นาฬิกา (ตามเวลาในประเทศไทย) นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะที่ปรึกษาระดับสูงว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (High-Level Advisory Group of Countering Terrorism and Violent Extremism : HLAG-CTVE) เข้าร่วมการประชุมข้างเคียง (Side event) ในโอกาสสัปดาห์แห่งการต่อต้านการก่อการร้ายของสหประชาชาติ ประจำปี 2564 (UN 2021 Counter-Terrorism Week) ระหว่างวันที่ 21 30 มิถุนายน 2564 ภายใต้หัวข้อเรื่อง ความสำคัญของตัวแบบกรอบกฎหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของแผนระดับชาติว่าด้วยความช่วยเหลือสำหรับเหยื่อของการก่อการร้ายแบบครบวงจร (The importance of model legislative provisions to develop and strengthen comprehensive national assistance plans for victims of terrorism) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (โปรแกรม KUDO) จัดร่วมกันระหว่างสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union : IPU) กับหน่วยงานในระบบสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการต่อต้านการก่อการร้าย
การประชุมเริ่มขึ้นด้วย การรับฟังถ้อยแถลงจาก H.E. Mr. Vladimir Voronkov รองเลขาธิการสหประชาชาติประจำสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย (Under-Secretary-General, United Nations Office of Counter-Terrorism : UNOCT) กล่าวเน้นย้ำการนำกรอบกฎหมายภายในประเทศที่จำเป็นมาบังคับใช้โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแก่เหยื่อของการก่อการร้าย และ H.E. Mr. Agustín Santos Maraver เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสเปนประจำสหประชาชาติ ในฐานะผู้แทนกลุ่มเพื่อนเหยื่อของการก่อการร้าย (Group of Friends of Victims of Terrorism) กล่าวเน้นย้ำการให้เหยื่อของการก่อการร้ายสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการสนับสนุนทางสังคมและการบริการแม้ในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19
จากนั้น เป็นการกล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์จาก H.E. Ms. Ghada Fathi Waly ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (Executive Director of the United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) และผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา (Director-General of the United Nations Office at Vienna) กล่าวเน้นย้ำการส่งเสริมระบบความช่วยเหลือระดับประเทศ โดย UNODC ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่มีภารกิจหลักในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ได้จัดเตรียมทรัพยากรและเครื่องมือที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อของการก่อการร้าย โดยเฉพาะคู่มือฉบับล่าสุด เมื่อปี 2563 และ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา กล่าวเน้นย้ำการจัดทำเครื่องมือเฉพาะทางว่าด้วยกรอบกฎหมายเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งคาดว่าจะได้นำเสนอเป็นครั้งแรกในการประชุมสุดยอดของภาครัฐสภาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง (First Global Parliamentary Summit on Countering Terrorism and Violent Extremism) ในวันที่ 9 กันยายน 2564 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
ต่อมา เข้าสู่ช่วงการอภิปรายเป็นคณะ ดำเนินรายการโดย Ms. Fionnuala Ní Aoláin ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการต่อต้านการก่อการร้าย (Special Rapporteur on the promotion and protection of human rights and fundamental freedoms while countering terrorism) ร่วมด้วย Ms. Nathalie Faussat ผู้อำนวยการองค์กรช่วยเหลือทางการเงินให้แก่เหยื่อของการก่อการร้ายแห่งฝรั่งเศส (Director of the French Fonds de Garantie (FGTI)) กล่าวถึงการก่อการร้าย ณ กรุงปารีส เมื่อปี 2558 ซึ่งมีเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อการร้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่องค์กรนี้ได้คำนึงถึงการชดเชยและช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่เหยื่อของการก่อการร้ายเพื่อให้กลับมาดำรงชีวิตตามปกติได้ Ms. Jacqueline Odoul สมาชิกรัฐสภาเคนยา กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงไนโรบี เมื่อปี 2541 และตามด้วยผลกระทบและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะล่าสุด เมื่อปี 2562 ณ โรงแรมดุสิต ดีทู กรุงไนโรบี ทั้งหมดคือความท้าทายที่เคนยาต้องเผชิญท่ามกลางปัญหาช่องว่างของกรอบกฎหมาย Ms. Odette Chesnot ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรเพื่อเหยื่อของการก่อการร้ายแห่งเลบานอน (Co-founder of the Lebanese Association of Victims of Terrorism) กล่าวถึงปัญหาในด้านจิตวิทยาและการฟื้นฟูสภาพจิตใจเหยื่อของการก่อการร้าย ที่ไม่ต่างจากการฟื้นฟูแผลทางกายภาพ ครอบคลุมทุกปัจจัยสภาพแวดล้อมรอบตัวของเหยื่อ โดยเฉพาะครอบครัวและผู้ใกล้ชิดซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจเช่นเดียวกัน และ Mr. Jørgen Frydnes สมาชิกในคณะกรรมการของศูนย์อูเตอญาแห่งนอร์เวย์ (Board Member, Utoya Centre, Norway) กล่าวถึงการก่อการร้ายในนอร์เวย์โดยฝ่ายขวา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 77 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น พบว่า วิธีการรับฟังเหยื่อของการก่อการร้ายซึ่งรวมถึงการติดต่อทางตรงและพบปะกับครอบครัวของเหยื่อเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะนำมาสู่การจัดการปัญหาอื่น
โอกาสนี้ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยสอบถามไปยังผู้อภิปรายเกี่ยวกับแนวความคิดของการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในกรณีต้องตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากประเด็นที่อภิปรายและนำเสนอโดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาของการให้ความช่วยเหลือเหยื่อของการก่อการร้ายที่ครอบคลุมมิติของเด็กและสตรี หากแต่ยังขาดมิติของผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคมที่รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพึงให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพจิตใจเช่นเดียวกัน และอาจเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกทอดทิ้งเมื่อสมาชิกในครอบครัวต้องจากไปก่อนวัยอันควรอันเป็นผลจากการก่อการร้าย
เครดิต : ภาพและข่าว โดยกลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ |