เมื่อวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 19.00 - 20.00 นาฬิกา นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งที่สี่ของคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดประธานรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 13 (แบบกายภาพ) (Preparatory Committee for the in-person segment of the 13th Summit of Women Speakers of Parliament 13SWSP) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมสุดยอดประธานรัฐสภาสตรีจะเริ่มขึ้นในวันที่ 6 ก.ย. 64 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 4 คน ซึ่งเป็นสมาชิกสตรีของคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 ประกอบด้วย นอร์เวย์ อุรุกวัยและไทย โดยมี Ms. Tone Wilhelmsen Troen ประธานรัฐสภานอร์เวย์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม รวมทั้งประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมด้วย ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาสถานะล่าสุดของการเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดประธานรัฐสภาสตรี ครั้งที่ 13 (แบบกายภาพ) โดยประธานการประชุมฯ ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาที่ได้จัดทำกำหนดการประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งได้แจ้งรายชื่อคณะผู้อภิปราย (panelists) และผู้ดำเนินรายการ (moderator) ในแต่ละวาระการประชุม ซึ่งได้รับการตอบรับยืนยันแล้ว จากนั้น ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถาน โดยจะสะท้อนในคำกล่าวของประธานการประชุมฯ ในช่วงพิธีเปิดและจะไม่เปลี่ยนแปลงระเบียบวาระการประชุม นอกจากนี้ เลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของสหภาพรัฐสภาต่อกรณีเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานด้วย
จากนั้น เวลา 20.00 - 22.00 น. นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งที่หกของคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 (แบบกายภาพ) (Sixth meeting of the Preparatory Committee for the in-person segment of the Fifth World Conference of Speakers of Parliament 5WCSP) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 16 คน ประกอบด้วย ประธานสภาหรือผู้แทนจาก อัลจีเรีย บาห์เรน กายอานา ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ คูเวต อุรุกวัย จีน ออสเตรีย อินโดนีเซีย ไทย และซิมบับเว โดยมี Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม และเลขาธิการสหภาพรัฐสภา รวมทั้งประธานคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรีและตัวแทนของเลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมการประชุมด้วย โดยที่ประชุมฯ ได้รับฟังความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมจากผู้แทนของรัฐสภาออสเตรีย ซึ่งได้นำเสนอว่ารัฐสภาประเทศเจ้าภาพมีความพร้อมในการจัดการประชุมซึ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า รวมทั้งแจ้งกำหนดการทางวัฒนธรรม มาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมและสภาพภูมิอากาศ โดยเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้มีประธานรัฐสภายืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุม จำนวน 95 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดตัวเลขเมื่อครั้งการประชุมที่ผ่านมา ที่มีประธานรัฐสภายืนยัน จำนวน 74 คน มีคณะผู้แทนจากรัฐสภา จำนวน 108 คณะที่ยืนยันจะเข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้ เลขาธิการสหภาพรัฐสภายังได้แจ้งต่อที่ประชุมฯ ถึงสถานะล่าสุดของกำหนดการประชุม การตอบรับยืนยันของคณะผู้อภิปราย (panelist) กำหนดการประชุม กำหนดการงานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกอย่างดำเนินไปตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนะเรื่องการเชิญ Ms. Fawzia Koofi สมาชิกรัฐสภาอัฟกานิสถาน เพื่อกล่าวในช่วงพิธีเปิดการประชุม ซึ่งจะสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศอัฟกานิสถาน ผลกระทบที่มีต่อสตรี และแสดงถึงบทบาทสำคัญของสหภาพรัฐสภาที่มีต่อสถานการณ์โลก ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสหภาพรัฐสภาเสนอ
ต่อมา ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาเรื่ององค์ประกอบของคณะผู้แทนฯ ว่าควรมีการยืดหยุ่น เนื่องจากมีหลายประเทศที่ไม่สามารถลงทะเบียนคณะผู้แทนฯ ที่มีจำนวนมากกว่าที่กำหนดได้ อาทิ อิหร่าน เวียดนาม แองโกลา บราซิล โดยมอบหมายให้เลขาธิการสหภาพรัฐสภาดำเนินการทบทวนขั้นตอนในการลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประธานรัฐสภาที่ประสงค์จะเข้าร่วมการประชุม แต่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของคณะผู้แทนฯ ในระเบียบวาระสุดท้าย ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาร่างแรกของเอกสารปฏิญญาผลลัพธ์การประชุม (preliminary draft outcome Declaration) ฉบับปรับปรุงแก้ไข ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้ผนวกข้อคิดเห็นและปรับถ้อยคำตามข้อเสนอของรัฐสภาสมาชิก ภายหลังจากที่ได้แจ้งเวียนร่างเบื้องต้นฯ ไปยังประเทศสมาชิกเพื่อขอความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้ โดยมีข้อคิดเห็นที่ได้รับจากประธานรัฐสภาประเทศสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา คิวบา เยอรมนี ฮังการี อินเดีย อิหร่าน โรมาเนีย รัสเซีย สวีเดน ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย โดยที่ประชุมฯ ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ สมาชิกคณะกรรมาธิการฯ จากออสเตรีย อัลจีเรีย อินโดนีเซีย ไอซ์แลนด์ ซิมบับเว จีน นอร์เวย์ เป็นต้น และมีมติเห็นชอบร่างเอกสารดังกล่าวโดยปรับแก้ไขเนื้อหาเชิงสถิติให้เป็นปัจจุบันมากที่สุดและปรับถ้อยคำเพียงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถบรรลุฉันทามติของที่ประชุมประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ 5 ในการนี้ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการเตรียมการฯ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างเบื้องต้นของปฏิญญาฯ ผ่านกระดานสนทนา (chat) เพื่อแสดงความเห็นด้วยกับการปรับแก้ไขถ้อยคำในย่อหน้าที่ 4 เรื่องการส่งเสริมพลังหญิงซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ย่อหน้าที่ 9 เรื่องการจัดทำข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพ (Global Charter for Public's Health) ตามที่ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก ถือเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในบรรดาผู้นำทั่วโลกเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและภัยพิบัติระดับโลก อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องพิจารณารูปแบบของความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การยอมรับร่วมกันในระดับสากลและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และย่อหน้าที่ 12 เรื่องผลกระทบของวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพและความมั่นคงของมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและน้ำ การขาดแคลนทรัพยากร เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เครดิตข่าวและภาพ : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |