วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-5 ชั้น B1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการความรู้ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมพิธี
จากนั้น รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้เกียรติมอบรางวัลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ 1. ผลงาน เรื่อง แนวทางปฏิบัติการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ ตามระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2564 โดย สำนักกรรมาธิการ 1 2. ผลงาน เรื่อง การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตยผ่าน Digital Media ออนไลน์ โดย สำนักประชาสัมพันธ์ ผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดี ได้แก่ 1. ผลงาน เรื่อง การประยุกต์ใช้ Google Sheet ในการติดตามและประเมินผลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดย สำนักงานนโยบายและแผน 2. ผลงาน เรื่อง แบบคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดย กลุ่มงานวิทยาการคอมพิวเตอร์ สำนักสารสนเทศ 3. ผลงาน เรื่อง สื่อวิดีทัศน์แนะนำการประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน Zoom สำหรับการประชุมในวงงานรัฐสภา โดย สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ 4. ผลงาน เรื่อง แนวปฏิบัติการจัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย กลุ่มงานทะเบียนประวัติและสถิติ สำนักบริหารงานกลาง 5. ผลงาน เรื่อง การฝึกทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศผ่านกิจกรรม Morning Talk โดย สำนักภาษาต่างประเทศ 6. ผลงาน เรื่อง การใช้ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) เพื่อวิเคราะห์ผลของการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP โดย คณะกรรมการบริหารจัดการความรู้ สำนักงบประมาณของรัฐสภา 7. ผลงาน เรื่อง การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรองรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ในวาระที่สอง โดย สำนักกรรมาธิการ 3
สำหรับการมอบรางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคล คณะบุคคล และหน่วยงานที่สร้างสรรค์ผลงานแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศให้เป็นที่ประจักษ์ และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็น SMART Parliament ที่สมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป |