เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564 เวลา 15.00 17.00 นาฬิกา คณะผู้แทนรัฐสภาไทย จำนวน 4 คนประกอบด้วย 1) นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2) นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3) นางพิกุลแก้วไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา และ 4) ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมระดับโลกของภาครัฐสภาว่าด้วยการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 (First Global Parliamentary Meeting on Achieving the SDGs) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จัดโดยสหภาพรัฐสภาร่วมกับรัฐสภาอินโดนีเซีย เป็นวันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมฯ
การประชุมในวันนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยการอภิปรายในช่วงที่ 7 ภายใต้หัวข้อ หนทางข้างหน้า: แบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐสภาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ปล่อยให้ล่าช้าออกไปอีก (The way forward : Let's share ideas of possible actions parliaments could put in place to achieve the SDGs without further delay!) โดยที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางร่วมกับ Mr. Martin Chungong เลขาธิการสหภาพรัฐสภา เกี่ยวกับความคาดหวังของสหภาพรัฐสภา รวมถึงบทบาทที่ชัดเจนของภาครัฐสภาในการขับเคลื่อนมาตรการภายในประเทศของตนบนพื้นฐานของความเป็นจริงและการคำนึงถึงบริบทความท้าทายของการพัฒนาในแต่ละประเทศที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน ทั้งนี้ มุ่งหมายให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้มากที่สุด
ในการนี้ ศ.เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมกล่าวอภิปรายและแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมใน 4 ประเด็น ดังนี้ 1) เรียกร้องให้สหภาพรัฐสภาและประเทศสมาชิกร่วมมือกันจัดทำแผนงานเพื่อพัฒนากลไกของรัฐสภาในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามภารกิจหลักของรัฐสภา ได้แก่ การออกกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ การกำกับตรวจสอบ และการเป็นผู้แทนของปวงชน 2) สนับสนุนให้รัฐสภาส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยยกความสำคัญด้านสาธารณสุขความมั่นคงทางอาหาร และการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาสีเขียวเพื่อตอบสนองต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 3) ส่งเสริมให้รัฐสภาประเทศสมาชิกได้มีส่วนร่วมกำกับดูแลการจัดทำรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม 4) สนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายเพื่อส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ในฐานะเอกสารสุดท้ายของการประชุมตลอดทั้ง 3 วัน โดยฉันทามติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีในการเร่งรัดการดำเนินการของภาครัฐสภา เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาที่สหประชาชาติกำหนด
เครดิตข่าวและภาพ : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|