|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสำนักงานฯ |
"สมาชิกวุฒิสภาเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ของสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการของสหประชาชาติ ชุดที่หก"
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 22 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2564
|
เมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 20.00 21.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา ได้แก่ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช และ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปสำหรับสมาชิกรัฐสภาว่าด้วยกิจการของสหประชาชาติ ชุดที่หก (6th Briefing for Parliamentarians on the UN Affairs) หัวข้อ งบประมาณด้านการทหารที่เพิ่มขึ้นกับกลไกควบคุมของ UN : ภารกิจที่ยากเกินจะบรรลุ? (Rising military budgets and the UN mechanism to curb them : Mission impossible?) จัดขึ้นโดยสหภาพรัฐสภา ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ดำเนินรายการโดย Ms. Patricia Torsney ผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหภาพรัฐสภาประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือปัจจัยอื่น ๆ ไม่ได้ทำให้งบประมาณทางการทหารทั่วโลกลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม งบประมาณดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ช่วยในด้านการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กลับมีการขยายตัวขึ้นเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดอีกด้วย ในเรื่องนี้ สหประชาชาติจึงได้กำหนดกลไกติดตามการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารในระดับชาติ โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ สาระสำคัญของกลไกดังกล่าว คือระบบการรายงาน ซึ่งให้รัฐสมาชิกสามารถเปิดเผยรายงานประจำปีว่าด้วยการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารของตนต่อสาธารณชน และนำเสนอต่อสหประชาชาติโดยสมัครใจ
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้รับฟังทัศนะจาก H.E. Mr. Rodrigo Carazo เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งคอสตาริกาประจำสหประชาชาติ ซึ่งย้ำว่าคอสตาริกาเป็นประเทศที่ไม่มีการตั้งงบประมาณด้านการทหาร และยืนยันว่าสันติภาพสามารถบรรลุได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ ด้าน Ms. Izumi Nakamitsu รองเลขาธิการสหประชาชาติและผู้แทนระดับสูงด้านการลดอาวุธประจำสหประชาชาติ (UN Under-Secretary-General and High Representative for Disarmament Affairs) ระบุว่าโลกยังคงเต็มไปด้วยการสะสมอาวุธขณะที่โครงการด้านสังคมและเศรษฐกิจยังคงได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อไป โดยมีเพียงบางประเทศที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ อาทิ การเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ขณะที่ H.E. Mr. Jan Eliasson ประธานสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งกรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace and Research Institute : SIPRI) และอดีตประธานสมัชชาสหประชาชาติ ได้ย้ำถึงประเด็นทางเลือกของการใช้งบประมาณ โดยเปรียบเทียบว่างบประมาณด้านการทหารทั่วโลก ในปี 2563 เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนทั้งหมด ครอบคลุมและเกือบที่จะสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลกทั้งหมดได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 1 ว่าด้วยการขจัดความยากจน
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวางว่าปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างประเทศทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือประเด็นนัยทางการค้าของประเทศที่ผลิตและส่งออกอาวุธ ในบริบท อุตสาหกรรมด้านการทหาร (military-industrial complex) ผลักดันให้งบประมาณทางการทหารเพิ่มขึ้น สะท้อนความสลับซับซ้อนที่เกี่ยวพันกันทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ จนยากที่จะคลี่คลายได้โดยง่าย ปัญหาเกี่ยวกับระบบการรายงานงบประมาณด้านการทหาร ซึ่งดำเนินการในรูปแบบภาคสมัครใจ จึงเกิดขึ้นเมื่อประเทศทั้งหลายต่างให้ความสำคัญในการรายงานน้อยมาก โดยในปี 2563 มีประเทศที่แลกเปลี่ยนรายงานประจำปี เพียง 40 ประเทศ ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งถือเป็น ศัตรู ตัวฉกาจของต่อความมั่นคงของมนุษยชาติโลกในปัจจุบัน และงบประมาณทั้งหลายควรเร่งจัดสรรลงไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ การปรับตัว และการฟื้นคืนสภาพ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นใช้งบประมาณเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านอาวุธทางการทหาร โอกาสนี้ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา ได้ร่วมตั้งคำถามต่อผู้นำการอภิปรายว่าการก่อการร้ายถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐมักใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารด้วยหรือไม่
เครดิต : ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|