สหภาพรัฐสภาได้เผยแพร่เอกสารคู่มือสำหรับสมาชิกรัฐสภา ชุดที่ 33 เรื่อง การบัญญัติกฎหมายที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชาย (Gender-responsive law-making)
การจัดทำเอกสารชุดนี้ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสหภาพรัฐสภาสตรี (Bureau of Women Parliamentarians)ในช่วงปี พ.ศ. 2559-2564) ได้มีส่วนร่วมจัดทำและให้ข้อมูลด้านกฎหมายของประเทศไทยให้แก่สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) และ UN Women
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้สมาชิกรัฐสภาทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญในการพิจารณายกเลิกกฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศและระบุวิธีการในการบัญญัติกฎหมายที่เกิดประสิทธิผลมากขึ้นและให้ความคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่ชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน โดยการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าสมาชิกรัฐสภาหญิงมักเป็นผู้ผลักดันสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันการผลักดันดังกล่าวก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาชายด้วยซึ่งถือเป็นพันธมิตรสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในภาคนิติบัญญัติ เช่น ประธานรัฐสภาหรือประธานคณะกรรมาธิการต่าง ๆ โดยมากมักเป็นผู้ชาย จึงถือเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ คู่มือฉบับนี้ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 >> กล่าวถึงลักษณะและผลกระทบของกฎหมายที่เลือกปฏิบัติระหว่างเพศ พร้อมยกตัวอย่างของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ และประโยชน์ของกฎหมายที่สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ส่วนที่ 2 >> กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกรัฐสภาในการบัญญัติกฎหมายที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชาย โดยการเน้นคุณค่าของการปฏิรูปกฎหมายในการสนับสนุนความเท่าเทียมระหว่างเพศ บทบาทของสมาชิกรัฐสภาในการปฏิรูปกฎหมายที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชาย ระบบและกระบวนการด้านนิติบัญญัติ ประเภทของกฎหมายที่อาจได้รับการปฏิรูป และวิธีการสร้างบรรยากาศให้เกิดการดำเนินการของรัฐสภา
ส่วนที่ 3 >> ถือเป็นส่วนสำคัญของคู่มือฉบับนี้โดยระบุวิธีการและกระบวนการในการบัญญัติกฎหมายที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชายในแต่ละขั้นตอน ความสำคัญของกระบวนการการมีส่วนร่วม การระบุช่องว่างในกฎหมาย การบัญญัติกฎหมาย กฎหมายงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย และการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนที่ 4 >> กล่าวถึงพันธกิจของประเทศภาคีสมาชิกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเน้นที่อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) อันถือเป็นข้อบัญญัติสิทธิพื้นฐานระหว่างประเทศสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิง
ทั้งนี้ ในหัวข้อเรื่องการบัญญัติกฎหมายงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชาย คู่มือฯ ได้ยกตัวอย่างการกำหนดด้านงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิง-ชายของประเทศไทยที่ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี โดยอ้างถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 71 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคํานึงถึงความจําเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดนิยามและห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
https://www.ipu.org/resources/publications/handbooks/2021-11/gender-responsive-law-making
เครดิต : กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |